มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Chiang Mai Rajabhat University

ม.ราชภัฏเชียงใหม่ จัดตั้ง 6 ศูนย์ความเป็นเลิศ ขับเคลื่อนคุณภาพด้านวิชาการมุ่งเป้าพัฒนาท้องถิ่น

 

ม.ราชภัฏเชียงใหม่ จัดตั้ง 6 ศูนย์ความเป็นเลิศ ขับเคลื่อนคุณภาพด้านวิชาการมุ่งเป้าพัฒนาท้องถิ่น




ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ด้วยศักยภาพของคณาจารย์ประจำที่มีขีดความสามารถและสมรรถนะในด้านวิชาการ สามารถสร้างสรรค์องค์ความรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษาและบริการวิชาการได้เป็นอย่างดี ทั้งในรูปแบบการวิจัย การฝึกอบรม การสร้างนวัตกรรมและรูปแบบต่างๆ ตามความถนัดของคณาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศขึ้น เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพวิชาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยได้แสดงศักยภาพด้านวิชาการอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยรูปแบบการทำงานจะมีผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศ มีคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์ความเป็นเลิศ อยู่ภายใต้การดูแลของคณะหรือวิทยาลัย ด้วยการสนับสนุนงบประมาณและสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จากทางมหาวิทยาลัย เพื่อให้ศูนย์ความเป็นเลิศสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ จำนวน 6 ศูนย์ ได้แก่
1. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านบูรณาการงานวิจัยสู่ท้องถิ่น มีหน้าที่ดำเนินโครงการวิจัยเชิงบูรณาการและจัดการองค์ความรู้อย่างเป็นระบบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยเพื่อให้ตรงกับความต้องการในการแก้ปัญหาของชุมชนได้อย่างแท้จริง ตามนโยบายการพัฒนาองค์ความรู้ด้านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยพร้อมกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยหนึ่งในภารกิจด้านการวิจัยคือ การสร้าง การต่อยอด และการขยายผลการวิจัยไปสู่การดำเนินงานของชุมชนท้องถิ่น ทั้งเชิงพาณิชย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งส่งเสริมพื้นที่รอบที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ร่วมมือในการพัฒนาท้องถิ่นผ่านกระบวนการเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาการของมหาวิทยาลัย ชุมชน ชาวบ้าน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของคณะวิทยาการจัดการ มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภกฤษ์ ธาราพิทักษ์วงค์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศฯ



2. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืช มีหน้าที่ดำเนินการสร้างนักวิจัยที่มีความชำนาญให้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชจากภาคส่วนต่างๆ และดำเนินการวิจัยทางด้านประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพพืชที่เป็นกลุ่มวิจัย (Research Group) ผลิตผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชในลักษณะมุ่งเป้า (Targeted Research) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของมหาวิทยาลัยและของประเทศ ทั้งสร้างกลุ่มนักวิจัยให้มีการดำเนินการวิจัยที่มีลักษณะบูรณาการทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชในลักษณะเครือข่ายทั้งภายในมหาวิทยาลัย ระหว่างสถาบันการศึกษากับภาครัฐและเอกชน รวมถึงเครือข่ายระหว่างสถาบันการศึกษาต่างประเทศ และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชให้กับท้องถิ่นและผู้สนใจ พัฒนาต่อยอดและขยายผลการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชไปสู่การดำเนินงานเชิงพาณิชย์ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ โชติกเดชาณรงค์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศฯ


3. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการประยุกต์ใช้วัสดุนาโน มุ่งเน้นการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านวัสดุนาโนให้มีความโดดเด่นเฉพาะทาง โดยการพัฒนาองค์ความรู้การประยุกต์ใช้วัสดุนาโน ผ่านการทำผลงานวิจัย รวมทั้งการประยุกต์ใช้วัสดุนาโนให้สามารถตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น จนนำไปสู่การต่อยอดและขยายผลการวิจัยทางด้านวัสดุนาโนไปสู่การดำเนินงานเชิงพาณิชย์ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนิรุทธ์ รักสุจริต เป็นผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศฯ



4. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น มุ่งเน้นการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น มีความโดดเด่นเฉพาะทาง โดยการพัฒนาองค์ความรู้การประยุกต์ใช้ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น เช่น การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น การสำรวจและรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นผ่านการทำผลงานวิจัย รวมถึงการประยุกต์ใช้ความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นได้ จนนำไปสู่การต่อยอดและขยายผลการวิจัยทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพไปสู่การดำเนินงานเชิงพาณิชย์ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มี อาจารย์ ดร.ทัตพร คุณประดิษฐ์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศฯ



5. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ ดำเนินการประสานหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายทางธุรกิจ เพื่อสร้างความร่วมมือในการบริการวิชาการ ดำเนินโครงการวิจัยเชิงบูรณาการ จัดองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้ตรงกับความต้องการในการแก้ไขปัญหาของชุมชนและท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง โดยอยู่ภายใต้การดูแลของคณะวิทยาการจัดการ มี อาจารย์จิรเดช วันชูเพลา เป็นผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศฯ


และ 6. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้านล้านนา ดำเนินการสร้างนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา และดำเนินการวิจัยเพื่อสำรวจองค์ความรู้ ตลอดจนบูรณาการองค์ความรู้ดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนาในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผลิตผลงานวิชาการด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนาทั้งรูปแบบอนุรักษ์และสร้างสรรค์เผยแพร่สู่สาธารณชนในรูปแบบต่างๆ สร้างเครือข่ายครูภูมิปัญญา นักวิชาการและดนตรีนาฏศิลป์ล้านนา สำรวจจัดเก็บข้อมูลในลักษณะแผนที่ทางวัฒนธรรม ตลอดจนสร้างเครือข่ายนักวิชาการด้านดนตรีล้านนารูปแบบการศึกษามนุษยดนตรีวิทยาระดับนานาชาติ พร้อมจัดตั้งหอจดหมายเหตุดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา เพื่อจัดเก็บข้อมูลภูมิปัญญาและเผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์ จัดการสัมมนาวิชาการและอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนาสู่สาธารณชน โดยอยู่ภายใต้การดูแลของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มี อาจารย์สงกรานต์ สมจันทร์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศฯ


ทั้งนี้ในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัย ดังปรัชญาที่ว่า “การศึกษาเป็นหัวใจของการพัฒนาท้องถิ่น”

เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"

ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

        C Community  สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล

        M Moral   สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม

        R Royal  น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม

        U Unity   ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว

อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"

คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  

คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และ เป็นพลเมืองดี (5 ดี)

รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัย

Find CMRU APP at Play Store Find CMRU APP at Play Store
สงวนลิขสิทธิ์ 2558, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ดูแลระบบ; admin@cmru.ac.th

ติดต่อมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.ช้างเผือก ต.ช้างเผือก
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
โทรศัพท์: 08-1293-9749
อีเมล์ : saraban@cmru.ac.th