มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Chiang Mai Rajabhat University

คณะช้างเผือกสามัคคี มร.ชม.รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดคลิปดนตรีพื้นบ้านและการแสดงพื้นบ้าน พ.ศ. 2564 “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม”

 

คณะช้างเผือกสามัคคี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

การประกวดคลิปดนตรีพื้นบ้านและการแสดงพื้นบ้าน พุทธศักราช 2564 “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม”


 

คณะช้างเผือกสามัคคี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดคลิปดนตรีพื้นบ้านและการแสดงพื้นบ้าน พุทธศักราช 2564 “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” ประเภทคลิปดนตรีพื้นบ้าน รับถ้วยเกียรติยศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

 

การจัดประกวดคลิปดนตรีพื้นบ้านและการแสดงพื้นบ้าน ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับการแสดงประเภทดนตรีพื้นบ้าน มีบทร้องที่มีเนื้อหาเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น สำหรับนักศึกษาที่เข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ เป็นนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา โครงการวงดนตรีและการแสดง “ช้างเผือกสามัคคี” เพื่อพัฒนาศักยภาพครูดนตรี-นาฏศิลป์สู่ความเป็นเลิศ เป็นกิจกรรมของนักศึกษาหลักสูตรดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ก่อตั้งภายใต้แนวคิดของหลักสูตรที่ว่า “เรียนเด่น เป็นคนดี ฝีมือเยียม เปี่ยมล้นความเป็นครู” โดยประกอบด้วยวงดนตรีหลากหลายประเภททั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล มุ่งหวังให้เกิดประสบการณ์เรียนรู้ทางดนตรี ทั้งด้านทักษะวิชาการ ทักษะการปฏิบัติ และทักษะการบริหารจัดการ เพื่อให้ได้ว่าที่ครูดนตรีที่ “ดี” “เก่ง” และมีความเป็น “มืออาชีพ”

 

การแข่งขันครั้งนี้ ใช้วงดนตรีพื้นเมือง” หรือ “วงสะล้อ ซอ ซึง” คณะช้างเผือกสามัคคี เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา ที่มุ่งเน้นการฝึกทักษะการปฏิบัติดนตรีล้านนา ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับสูง สอดแทรกความรู้ด้านทฤษฎีดนตรีล้านนาประกอบกัน เพื่อให้นักดนตรีล้านนา ตลอดจนว่าที่ครูดนตรีมีความรู้ทั้งด้านการปฏิบัติอย่างถ้องแท้ มีความรู้ด้านประวัติและทฤษฎีดนตรีล้านนา สามารถจำแนกแยกแยะพัฒนาการทางดนตรีล้านนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และบทบาทหน้าที่ของดนตรีล้านนาสำหรับการบรรเลงในโอกาสต่าง ๆ

 

สำหรับแนวคิดการแสดงดนตรีพื้นเมือง ชุด “ดุริยะเทิดไท้ไหว้สา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ” ได้นำแนวคิดการแสดงดนตรีล้านนา “รักษาของเดิม-เพิ่มเติมของเก่า-ประพันธ์ขึ้นใหม่ในแนวคิดวัฒนธรรมดนตรีล้านนา ” เป็นหลักในการนำเสนอ เพื่อให้คงทั้งความเป็นดนตรีล้านนาที่พัฒนาจากดนตรีพื้นบ้านสู่ความเป็นแบบแผน ตลอดจนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมสำหรับการบรรเลงเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระผู้ทรงคุณแห่งวงการศิลปะวัฒนธรรมของไทย

 

การแสดงครั้งนี้ ได้เลือกใช้บทเพลงที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการเทิดพระเกียรติ ตลอดจนใช้ขับร้องที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะที่แสดงถึงวัฒนธรรมดนตรีคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ ผสมผสานกับบทซอพื้นเมืองที่พัฒนาวิธีการขับร้องให้ร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น แสดงถึงทักษะของผู้ขับและความเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ได้ประพันธ์บทเพลงขึ้นใหม่เพื่อแสดงถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมล้านนา ได้แก่ เพลงศรีล้านนา บูรณาการจังหวะกลองตึ่งโนง ท่วงทำนองแสดงถึงความอ่อนหวานเพื่อเทิดพระเกียรติ เพลงวรนคร ช่วงสร้อยใช้ทำนองซอล่องน่านกล๋าย ส่วนตัวทำนองนั้นแสดงถึงความบ้านชุ่มเมืองเย็น หมายถึงบ้านเมืองสงบสุขภายใต้ร่มพระบารมี และเพลงสุดท้าย คือเพลงละกอน บูรณาการกับกลองเต่งถิ้งจังหวะพื้นบ้านจังหวัดลำปางที่ใช้ในพิธีฟ้อนผีบรรพบุรุษ เพื่อสื่อถึงเทพยดาได้อวยชัยแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

รายชื่อนักศึกษาหลักสูตรดนตรีศึกษาที่เข้าแข่งขัน

1.       นายชยานันต์ ยะนันท์

2.       นางสาวปราณปรียา ศรีสวัสดิ์

3.       นายกฤตานน พรมวังขวา

4.       นางสาวตรีธารทิพย์ ลวดขาว

5.       นายปิยสวัสดิ์ ปิยนุสรณ์

6.       นายภูดิท เตจ๊ะ

7.       นายสิงหราช อินต๊ะวงศ์

8.       นายศุภกร วงค์คำแสน

9.       นายกิตติพงศ์ วงศ์วิชัย

10.      นายนิธชวัฒน์ ดวงสีลา

อำนวยการฝึกซ้อมโดย

1.       ผู้ช่วยศาสตราจารย์รณชิต แม้นมาลัย

2.       ผู้ช่วยศาสตราจารย์บูรณพันธุ์ ใจหล้า

3.       อาจารย์เมธินี อ่องแสงคุณ

4.       อาจารย์ณัฐนรี รัตนสวัสดิ์

5.       อาจารย์ทรงพล เลิศกอบกุล

6.       อาจารย์มงคล ภิรมย์ครุฑ

ผู้ฝึกซ้อม ปรับวง และประพันธ์ดนตรี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์

 

ขอขอบคุณภาพและข่าวจาก :  ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

 

 

เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"

ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

        C Community  สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล

        M Moral   สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม

        R Royal  น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม

        U Unity   ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว

อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"

คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี

 

 

รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัย

Find CMRU APP at Play Store Find CMRU APP at Play Store
สงวนลิขสิทธิ์ 2558, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ดูแลระบบ; admin@cmru.ac.th

ติดต่อมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.ช้างเผือก ต.ช้างเผือก
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
โทรศัพท์: 08-1293-9749
อีเมล์ : saraban@cmru.ac.th