ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืช มร.ชม. จัด Workshop “เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชอย่างง่ายสำหรับนักเรียน”
25 ก.พ. 2562
โดย สุกัญญา แก้ววรรณ
Tweet
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืช มร.ชม. จัด Workshop “เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชอย่างง่ายสำหรับนักเรียน”

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืช มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชอย่างง่ายสำหรับนักเรียน” ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชเพื่อการขยายพันธุ์พืช สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชหายากใกล้สูญพันธุ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ โชติกเดชาณรงค์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืช คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชอย่างง่ายสำหรับนักเรียน” ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ห้องเรียนพิเศษ โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 33 คน ณ ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชอย่างง่าย สามารถนำเทคนิคดังกล่าวไปปฏิบัติได้เอง รู้จักปรับใช้ให้เหมาะสมกับพืชชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนและเพิ่มพูนทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเนื้อหาการอบรมประกอบด้วย ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช การประยุกต์ใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ฯ ปฏิบัติการการเตรียมอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ปฏิบัติการฟอกฆ่าเชื้อชิ้นส่วนพืช และปฏิบัติการตัด ย้ายเนื้อเยื่อพืชในสภาพปลอดเชื้อ ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการอบรมทางศูนย์ฯ ได้มอบอุปกรณ์และสารเคมีที่จำเป็นต้องใช้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชให้แก่ทางโรงเรียน เพื่อนำกลับไปใช้ในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชในท้องถิ่น โดยศูนย์ฯ จะเป็นที่ปรึกษาและติดตามผลการดำเนินงานต่อไป
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืช กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดอบรมเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชนอกจากจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ยังสอดคล้องกับเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรื่องเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับพืช และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เรื่องการสืบพันธุ์และการเจริญเติบโตของพืช ทำให้สถานศึกษามีความสนใจในการนำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชไปใช้ในการเรียนการสอน และยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ ดังนั้นทางศูนย์ ฯ จึงได้นำผลงานวิจัยเรื่อง เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชอย่างง่ายซึ่งประยุกต์ใช้สารเคมีและเครื่องมือที่มีราคาถูก สามารถหาซื้อได้ง่ายแต่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับเทคนิคมาตรฐานมาจัดทำเป็นหลักสูตรการอบรมสำหรับนักเรียน ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอน การสร้างรายได้เสริม พัฒนาให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้ พัฒนาการศึกษา ฝึกอบรมวิชาชีพในแก่เยาวชนและคนในชุมชน
สำหรับโรงเรียน หน่วยงาน หรือผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดการอบรมได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืช คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โทรศัพท์ 083 – 4480197 หรือดูรายละเอียดการจัดกิจกรรมได้ที่ www.facebook.com/cepbcmru










ข่าว : สุกัญญา แก้ววรรณ นักประชาสัมพันธ์ สำนักงานอธิการบดี ม.ราชภัฏเชียงใหม่
ที่มาข้อมูล / ภาพ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ โชติกเดชาณรงค์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืช
เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และ เป็นพลเมืองดี (5 ดี)