ม.ราชภัฏเชียงใหม่ สานสายใยบุคลากร สร้าง “พลังสามัคคี” สู่การบริการที่เป็นเลิศ (รุ่นที่ 1)
ม.ราชภัฏเชียงใหม่ สานสายใยบุคลากร สร้าง “พลังสามัคคี” สู่การบริการที่เป็นเลิศ (รุ่นที่ 1)
----> พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมโครงการพัฒนาบุคลากร มุ่งสร้าง “พลังสามัคคี” สู่การบริการที่เป็นเลิศ
----> ในภาวะความเปลี่ยนแปลงท่ามกลางการแข่งขันของสถาบันการศึกษาในปัจจุบัน การสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน การผนึกกำลังรวมกันเป็นหนึ่งนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อทุกองค์กร โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จและสามารถอยู่รอดได้
----> ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดย กองบริหารงานบุคคล สำนักงานอธิการบดี ได้จัดโครงการพัฒนาบุคลากรสายสนับสนุนเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการปฏิบัติงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การเรียนรู้หลักการเงื่อนไขในการทำงานเป็นทีม การสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี การวางแผน การแก้ไขปัญหา การตัดสินใจร่วมกัน การฝึกฝนในการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น การอุทิศตน รู้จักเสียสละ การพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สร้างความเชื่อมั่นในตนเองและมีความกล้าแสดงออก ให้แก่บุคลากรสายสนับสนุน จำนวน 485 คน ซึ่งแบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 วันที่ 28 – 29 พฤศจิกายน 2559 และรุ่นที่ 2 วันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ล้านนา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
----> ผศ.พรพิมล วงศ์สุข รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน โดยในส่วนของสายสนับสนุนนับเป็นกำลังสำคัญและเป็นกลไกด้านทรัพยากรมนุษย์ที่จะช่วยผลักดันให้มหาวิทยาลัยดำเนินกิจการงานต่างๆ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ที่กำหนดไว้ ดังนั้น การจัดโครงการพัฒนาบุคลากรในครั้งนี้บุคลากรทุกคนจะได้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะการปฏิบัติงานสมัยใหม่เพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของงาน เทคนิคการบริการด้วยใจเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร รวมถึงกิจกรรมสันทนาการสานสัมพันธ์บุคลากร และกิจกรรม Walk Rally สร้างความสามัคคีและทำงานเป็นทีม ซึ่งได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.ณฐวัฒน์ ล่องทอง อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมวิทยากรจากศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ล้านนาเชียงใหม่ เป็นวิทยากร
----> ในการอบรมมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งการบรรยาย กิจกรรมการทำความรู้จักซึ่งกันและกัน กิจกรรมกลุ่มรวมตัวเลขตามจำนวน กิจกรรมการแสดงรอบกองไฟ กิจกรรมการต่อโดมิโน กิจกรรมลูกโป่งของฉัน และกิจกรรม Walk Rally 8 ฐาน ได้แก่ ฐานรางวัลจากฟากฟ้า ฐานกระสอบสามัคคี ฐานเวียนไข่ ฐานด้วยรักและผูกพัน ฐานวอลเล่ย์บอล ฐานรางลุ้นประคองรัก ฐานลำเลียงพล และฐานหัวใบ้ท้ายบอด
----> ซึ่งตัวแทนบุคลากร “ฝ้าย” ณัฐภรณ์ ขันไชย เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สังกัดวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ในการเข้าร่วมโครงการชอบกิจกรรมกลุ่มที่ให้สมาชิกหยิบตัวเลขของใครของมัน เพื่อรวมให้ได้ตามจำนวนที่วิทยากรกำหนด โดยห้ามพูดคุยหรือสื่อสารกัน ดังนั้น ก่อนเริ่มกิจกรรมสมาชิกต่างช่วยกันเสนอความคิดว่าจะทำอย่างไร ใช้วิธีการใด เมื่อได้วิธีที่ดีที่สุดก็ทำการทดลองจนเกิดผลสำเร็จ ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่สร้างความตื่นเต้น ความสนุกสนาน แต่ยังทำให้ได้คิด ได้วางแผน ได้รับฟังความคิดของผู้อื่น ได้ทดลองปฏิบัติ จนเกิดเป็นแนวปฏิบัติที่ดี เช่นเดียวกับการทำงานในองค์กรซึ่งเป็นการทำงานกับคนส่วนใหญ่ การปรับตัว การปฏิบัติตนในสังคมเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกันช่วยเหลือกัน ช่วยกันวางแผนก็จะทำให้งานที่รับผิดชอบและองค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ยิ่งขึ้น
----> ทางด้านของ "โอ๋" สุทธิพงษ์ อำภา นักวิชาการศึกษา สังกัดวิทยาลัยนานาชาติ กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นทำให้บุคลากรได้ทำความรู้จักกัน ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งในกิจกรรมสันทนาการและกิจกรรมกลุ่ม ทำให้เกิด ความสัมพันธ์ที่ดี ส่งผลดีต่อการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงาน ซึ่งในการทำงานนั้นหากเรามีความสามัคคีและช่วยกันทำงานเป็นทีมก็จะทำให้งานประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
----> ซึ่ง เบญจมาศ สีตะพันธุ์ "อ้อ" เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป คณะวิทยาการจัดการ กล่าวว่า ชอบกิจกรรมที่อยู่ในห้องประชุม เนื่องจากเป็นการรวมทุกคนอยู่ในห้อง ได้เห็นเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ร่วมองค์กรเดียวกัน เพราะในเวลาทำงานไม่มีโอกาสได้เจอกัน พูดคุยกัน หรือร่วมงานกัน แต่ละคนมาจากต่างหน่วยงาน กิจกรรมหลายๆ อย่างที่ได้ทำ เป็นการโอกาสให้ทำความรู้จักกัน อีกทั้งกิจกรรมมีความหลากหลาย สร้างความสนุกสนานได้ใช้ทักษะ ไหวพริบ ที่สำคัญคือความสามัคคี รวมถึงกิจกรรมก็แฝงไปด้วยข้อคิดในการทำงานร่วมกัน โดยในการทำงานทุกครั้งเราจะต้อง พบเจอกับปัญหา แต่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากภายนอกหรือภายใน จากตัวเราเองหรือจากคนอื่นก็ตาม การพูดคุยการรับฟังผู้อื่น ถือว่าเป็นจุดสำคัญอย่างหนึ่งที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้
----> ปิดท้ายที่ "เหมี่ยว" นิชชิมา บัวประเสริฐยิ่ง เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า ในโครงการไม่เพียงแต่ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้ทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน แต่สิ่งที่สอดแทรกอยู่ในทุกๆ กิจกรรม นั่นคือการได้เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิด ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีความเสียสละ ร่วมด้วยช่วยกันในการแสดงพลังความสามัคคีเพื่อความสำเร็จตามเป้าหาย และสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับบุคลากรสายสนับสนุนคือ “หัวใจของการบริการ” หากเราให้บริการด้วยความเต็มใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความกระตือรือร้น มีไมตรีจิต สร้างความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ ก็จะนำมาซึ่งความประทับใจเกิดการสร้างสัมพันธ์ที่ดี สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อตัวเอง ต่อหน่วยงาน และต่อมหาวิทยาลัย
ข่าว / ภาพ : สุกัญญา แก้ววรรณ นักประชาสัมพันธ์ มร.ชม.
ที่มาข้อมูล : กองบริหารงานบุคคล มร.ชม.
ประมวลภาพกิจกรรม (29 พ.ย. 59) >> Click
เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และ เป็นพลเมืองดี (5 ดี)