มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Chiang Mai Rajabhat University

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประจำปี 2559

 

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประจำปี 2559




วันนี้ (6 มกราคม 2560) เวลา 20.33 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังหอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2557 ถึง 2558 เป็นวันแรก ในการนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ จำนวน 5 ราย คือ
นายบุญชู ตรีทอง ผู้อุทิศตนให้แก่งานด้านการพัฒนาสังคมอย่างกว้างขวาง โดยใช้การศึกษานำการพัฒนาที่มีปณิธานว่า “การส่งเสริมด้านการศึกษาเป็นการปลูกปัญญาให้กับเยาวชนของชาติ” ผลจากการปฏิบัติตนยังผลให้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยถึง 2 สมัย อีกทั้งยังมีผลงานที่แสดงถึงความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมที่ส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การริเริ่มดำเนินการก่อสร้างหอประชุมใหญ่ให้แก่โรงเรียนห้องสอนศึกษา จังหวัดแม่ฮ่องสอน และโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง ห้องสมุดประจำอำเภอให้จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผลักดันให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เปิดสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน เข้ารับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน



นางสุรีย์พร คองประเสริฐ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจหลายด้าน และต่อเนื่องมายาวนานกว่า 50 ปี โดยเริ่มจากการเปิดร้านขายนาฬิกาและแว่นตาที่ถนนท่าแพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ชื่อ “ร้านเจริญศิลป์” แล้วขยายกิจการสู่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เปิดร้านอาหาร “ศรีสุภางค์” ที่แจ่งหัวริน เปิดกิจการจำหน่ายรถจักรยานยนต์พร้อมตั้งบริษัทเจริญมอเตอร์เชียงใหม่ ด้วยการบริหารธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ขยายจุดขายในรูปตัวแทนจำหน่ายได้มากกว่า 30 แห่ง ครอบคลุมภาคเหนือของไทย ด้วยความขยันและมีแนวคิดด้านการตลาดทำให้ขยายสู่ธุรกิจการจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดสเบนซ์ และยี่ห้อเชฟโรเลต เจริญมอเตอร์เชียงใหม่รองรับธุรกิจนี้ ในด้านสังคมได้อุทิศตนช่วยเหลือด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อาทิ สนับสนุนการซื้อเครื่องมือการแพทย์และเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์การแพทย์แก่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท มอบที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์แก่เทศบาลนครเชียงใหม่ และสถานศึกษาหลายแห่ง รวมมูลค่ากว่า 25 ล้านบาท ช่วยบูรณะวัดเชตวัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ และวัดศรีดอนมูล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท เข้ารับพระราชทานปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการ



ดร.ประมุข เพ็ญสุต รองผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษ ในสาขาวิชาชีววิทยา ที่ใช้ความรู้ความสามารถในการพัฒนางานและบริหารจัดการสวนพฤกษศาสตร์ ได้ผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะปี พ.ศ.2559 นี้ มีการเปิดให้บุคคลเข้าใช้เส้นทางเดินทางชมสวนพฤกษศาสตร์เหนือเรือนยอดไม้ (Canopy Walkway) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากผู้เข้าชมได้สัมผัสธรรมชาติและเรียนรู้กับความหลากหลายของพันธุ์ไม้ นับเป็นแหล่งให้ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ที่สำคัญของไทย ทั้งเป็นคนแรกที่ทำการวิจัยเพื่อจำแนกชนิดไม้กลายเป็นหินทางภาคอีสานของไทยพบว่า ไม้ที่กลายเป็นหินมีถึง 10 วงศ์ 15 สกุล และ 18 ชนิด นอกจากนี้ยังบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมอย่างกว้างขวางและยาวนาน อาทิ การเข้าร่วมเป็นกรรมการประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างปี พ.ศ.2550 – 2556 และเข้าร่วมเป็นกรรมการสภาวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ.2554 – 2558 เข้ารับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาชีววิทยา



นายธีระวัฒน์ พิทักษ์ไพรศรี เลขาธิการมูลนิธิลุ่มน้ำแม่คำ จังหวัดเชียงราย ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาชุมชนที่ใช้ความรู้ความสามารถทั้งทางรัฐศาสตร์การพัฒนาพื้นที่และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยผ่านโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน และได้รับความสำเร็จอย่างดียิ่ง อาทิ โครงการลด ละ เลิก การใช้ยาเสพติดในชุมชนอาข่า อันส่งผลให้หมู่บ้านแสนสุข อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ปลอดยาเสพติดได้ทั้งหมด หลังจากได้รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเพียงปีเดียว โครงการขจัดปัญหาความยากจนด้วยการทำการเกษตรแบบพอเพียง การสร้างแหล่งอาหารจากป่าชุมชน การทำบัญชีครัวเรือนเพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ล้วนส่งผลให้ชาวอาข่ามีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างยั่งยืน ผลงานสำคัญอีกอย่างคือ การอุทิศตนด้วยการจัดโอกาสให้เยาวชนอาข่าที่มีปัญหาครอบครัว ขาดผู้ปกครองและไร้บ้าน ได้มีที่อยู่อาศัย มีอาหารและได้รับการศึกษา ด้วยการตั้งสถานพักพิงให้ โดยมิได้อาศัยงบประมาณจากทางราชการ ปีหนึ่งๆ จะมีเยาวชนมาขออาศัยมากกว่า 20 คน รวมเยาวชนที่เข้าพักพิงในสถานที่นี้มากกว่า 200 คน ปัจจุบันสถานพักพิงแห่งนี้ได้จดทะเบียน ในนาม “มูลนิธิลุ่มน้ำแม่คำ จังหวัดเชียงราย” แล้ว จากผลงานดังกล่าวทำให้ได้รับรางวัลผู้ปฏิบัติหน้าที่ประสานพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดดีเด่น ปี พ.ศ.2548 รางวัลคนดีศรีเชียงราย ปี พ.ศ.2549 และในปี พ.ศ.2559 นี้ ได้รับรางวัลคนดีศรีแม่จัน เข้ารับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน



นายเพชร วิริยะ ช่างฝีมือเยี่ยมที่มีผลงานแกะสลักช้างหลายรูปแบบ นอกจากจะใช้ความสามารถดังกล่าวประกอบอาชีพแกะสลักไม้แล้ว นายเพชร วิริยะ ยังมีจิตอาสาเพื่อสังคมด้วยการทุ่มเทให้กับงานถ่ายทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญางานศิลปะการแกะสลักสู่ความยั่งยืนคู่คนล้านนาตลอดไป ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ ให้แก่คนในท้องถิ่นอย่างน่าภูมิใจ ทั้งนี้ในปี พ.ศ.2528 ได้รวบรวมช่างฝีมือดีด้านการแกะสลักจัดตั้ง“กลุ่มแกะสลัก” พร้อมกับได้รับการตั้งชื่อจาก นายประยูร จรรยาวงศ์ คอลัมน์นิสต์ แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า “บ้านจ๊างนัก” ซึ่งหมายความว่าบ้านที่มีช้างมากมาย จากนั้นบ้านจ๊างนักได้พัฒนารูปแบบการแกะสลักช้างให้ดูมีชีวิตชีวา และเหมือนจริงมากขึ้น ทดลองใช้ไม้ขี้เหล็กมาแกะสลักแทนไม้สักได้สำเร็จ ใช้ลูกมะเกลือที่ใช้ย้อมผ้ามาย้อมไม้แกะสลักให้ได้สีสวยธรรมชาติ และไร้สารพิษ ในปี พ.ศ.2546 บ้านจ๊างนักได้รับการบรรจุให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” ยังผลให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลศิลปินดีเด่นจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ.2543 รางวัลเพชรราชภัฏ เพชรล้านนา ปี พ.ศ.2551 และได้รับรางวัลผญ๋าดี ปี พ.ศ.2557 เข้ารับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์



และพระราชทานปริญญาบัตรแก่ดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิต และบัณฑิต รวม 4,363 คน แยกเป็น ปริญญาเอก 3 คน ปริญญาโท 33 คน ปริญญาตรี 4,327 คน ประกอบด้วย ครุศาสตรบัณฑิต 1,496 คน วิทยาศาสตรบัณฑิต 666 คน ศิลปศาสตรบัณฑิต 801 คน รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต 120 คน นิติศาสตรบัณฑิต 106 คน บริหารธุรกิจบัณฑิต จำนวน 743 คน บัญชีบัณฑิต 174 คน เศรษฐศาสตรบัณฑิต 86 คน นิเทศศาสตรบัณฑิต 135 คน



ในปี พ.ศ.2559 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้จัดงานวิชาการ “7 ทศวรรษกษัตราทรงครองไทย ราชภัฏเชียงใหม่เทิดไท้ปิ่นราชัน” เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติครบ 70 ปี พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน ตลอดจนเผยแพร่พระราชกรณียกิจ และโครงการพระราชดำริเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี

และในวโรกาสอันเป็นมงคลยิ่งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย คณาจารย์ ข้าราชการ บัณฑิต และพสกนิกรที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ทรงพระเกษมสำราญ ปราศจากโรคาพยาธิทั้งปวง ทรงดำรงสิริรัชพิพัฒนไพบูลย์ ด้วยพระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาลทั่วทิศานุทิศ สถิตเสถียรเป็นมิ่งขวัญดวงประทีป ปกเกล้าคุ้มเกศเหล่าพสกนิกรทั้งปวงทั่วธาตรี ทรงพระเจริญในสิริราชสมบัติสืบไป



ข่าว : สุกัญญา แก้ววรรณ นักประชาสัมพันธ์ มร.ชม.
ที่มาข้อมูล : กองเลขานุการ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรฯ
ขอขอบคุณภาพ : อาจารย์วรนัย  ไชยวงค์ญาติ  สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มร.ชม.

เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"

ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

        C Community  สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล

        M Moral   สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม

        R Royal  น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม

        U Unity   ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว

อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"

คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  


รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัย

Find CMRU APP at Play Store Find CMRU APP at Play Store
สงวนลิขสิทธิ์ 2558, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ดูแลระบบ; admin@cmru.ac.th

ติดต่อมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.ช้างเผือก ต.ช้างเผือก
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
โทรศัพท์: 053-412151-155
อีเมล์ : saraban@cmru.ac.th
 

ติดต่อเรา