adiCET CMRU ถ่ายทอดองค์ความรู้ “แปรรูปขยะจากเปลือกข้าวโพดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน” สร้างรายได้ ลดปัญหาการเผาและหมอกควัน
12 ก.พ. 2562
โดย สุกัญญา แก้ววรรณ
Tweet
adiCET CMRU ถ่ายทอดองค์ความรู้ “แปรรูปขยะจากเปลือกข้าวโพดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน” สร้างรายได้ ลดปัญหาการเผาและหมอกควัน

วิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับเทศบาลตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การถ่ายทอดการแปรรูปขยะจากเปลือกข้าวโพดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เมื่อวันที่ 28 – 29 มกราคม 2562 ณ ศาลาเอนกประสงค์บ้านปางเฟือง ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ คณบดีวิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (adiCET) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกข้าวโพดเป็นจำนวนมาก และในแต่ละปีจะประสบปัญหาปริมาณขยะจากการเกษตรที่เกิดขึ้นหลังการเก็บเกี่ยว คือซังข้าวโพด เปลือก และลำต้น ซึ่งเกษตรกรมักจะกำจัดขยะเหล่านี้ด้วยวิธีเผา ทำให้เป็นสาเหตุหลักของปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้น วิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย จึงได้ร่วมกับเทศบาลตำบลปิงโค้ง ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2561 ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการแปรรูปขยะจากเปลือกข้าวโพด เพื่อถ่ายทอดความรู้จากการแปรรูปขยะจากเปลือกข้าวโพดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยนำมาทำดอกไม้ประดิษฐ์และกระดาษสา ซึ่งเป็นแนวทางในการเพิ่มรายได้และสร้างอาชีพสำหรับชุมชนในพื้นที่ พร้อมทั้งเป็นการลดปัญหาการเผาในที่โล่งและปัญหาหมอกควัน
ในการอบรมจัดให้มีการบรรยายเรื่อง “เทคโนโลยีการแปรรูปขยะชีวมวลเป็นพลังงานทดแทนและลดปัญหาการเผาในที่โล่ง” โดยนายวรพจน์ โพธาเจริญ วิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เทคนิคการทำดอกไม้ประดิษฐ์ โดยอาจารย์จันทร์สุดา คำขัติ อาจารย์ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เทคนิคการทำกระดาษสา โดยอาจารย์ภัทราวดี ธงงาม , อาจารย์ปิยะนุช เจดีย์ยอด และอาจารย์อรนุช คำแปน คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ให้แก่เกษตรกร ชาวบ้าน และนักเรียนในชุมชนบ้านปิงโค้ง บ้านปางเฟือง และบ้านปางโม่ ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จำนวนกว่า 100 คน ทั้งนี้จากความร่วมมือที่เกิดขึ้นของทั้งสองหน่วยงานจึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เหมาะสมด้านพลังงานทดแทนให้แก่ชุมชนโดยจะได้มีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันต่อไป







ข่าว : สุกัญญา แก้ววรรณ นักประชาสัมพันธ์ สำนักงานอธิการบดี ม.ราชภัฏเชียงใหม่
ที่มาข้อมูล / ภาพ : วิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และ เป็นพลเมืองดี (5 ดี)