ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืช มร.ชม. ถ่ายทอดความรู้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชฯ ในงานราชภัฏวิชาการ
15 ก.พ. 2562
โดย สุกัญญา แก้ววรรณ
Tweet
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืช มร.ชม.
ถ่ายทอดความรู้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชฯ ในงานราชภัฏวิชาการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ โชติกเดชาณรงค์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืช คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 – 15 กุมภาพันธ์ 2562 คณะทำงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชได้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการเนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยราชภัฏ ภายใต้โครงการ “ราชภัฏวิชาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่อง “การใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเพื่อส่งเสริมกิจกรรมอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสำหรับโรงเรียนในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูนและแม่ฮ่องสอน” ซึ่งได้พัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยง เนื้อเยื่อพืชด้วยต้นทุนต่ำโดยใช้สารเคมีและเครื่องมือที่มีราคาถูกสามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด จนได้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชอย่างง่ายที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับเทคนิคมาตรฐาน และได้มีการเผยแพร่เทคนิคดังกล่าวไปยังโรงเรียนต่าง ๆ อาทิ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม จ.เชียงใหม่ โรงเรียนสันกำแพง จ.เชียงใหม่ โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม จ.ลำพูน โรงเรียนธีรการณ์บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน และโรงเรียนเวียงเจดีย์ จ.ลำพูน รวมถึงการถ่ายทอดเทคนิคให้กับกลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยท้องถิ่นบ้านปงไคร้ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ในการขยายพันธุ์กล้วยไม้ฟ้ามุ่ยคืนสู่ป่า และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ภายในงานแสดงนิทรรศการได้รับเกียรติจาก นายประจวบ อาจารพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ พริบไหว ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ บุคลากรหน่วยงานภาครัฐ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเยี่ยมชมนิทรรศการเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ยังได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชอย่างง่าย” ให้แก่เยาวชนและผู้สนใจในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนเป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป โดยในอนาคตทางศูนย์ฯ ได้วางแผนดำเนินโครงการ การส่งเสริมศักยภาพเชิงพาณิชย์ของกล้วยไม้ท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการตลาดและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้เชิงเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกด้วย









ข่าว : สุกัญญา แก้ววรรณ นักประชาสัมพันธ์ สำนักงานอธิการบดี ม.ราชภัฏเชียงใหม่
ที่มาข้อมูล / ภาพ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ โชติกเดชาณรงค์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืช
เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และ เป็นพลเมืองดี (5 ดี)