มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Chiang Mai Rajabhat University

ม.ราชภัฏเชียงใหม่ จับมือ สสว. และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิต

 


                    มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จับมือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิต

                    เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 รองศาสตราจารย์ ดร.ประพันธ์ ธรรมไชย รักษาราชการแทนอธิการบดีวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมเป็นเกียรติในงานแถลงข่าวโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอนในพระบรมราชินูปถัมภ์ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานงานแถลงข่าว

                    โดย นายสิริรัฐ กล่าวว่า โครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน พ.ศ.2562 เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารโครงการ สนับสนุนงบประมาณ และดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ เพื่อดำเนินโครงการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายโดยเป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศ ครอบคลุมทุกมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง ซึ่งคาดว่าเมื่อเสร็จสิ้นโครงการจะทำให้ มีต้นแบบและแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้ดียิ่งขึ้น

                    ด้าน นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ความยากจนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ได้ใช้เส้นความยากจนสะท้อนมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำของสังคม โดยคำนวณจากต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเฉลี่ยของปัจเจกบุคคลในระดับครัวเรือน พบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง จึงได้มีการจัดทำโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน พ.ศ.2562 เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ กระตุ้นให้เกิดการลงทุน ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนจากการสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคง รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติโดยสามารถพัฒนาร่วมกันอย่างเกื้อกูล สมดุล และยั่งยืน

                    ผอ.สสว. เผยว่า สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการต้นแบบ ฯ มีทั้งหมด 6 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 กิจกรรมส่งเสริมต้นแบบการรวมกลุ่มวิสาหกิจเพื่อการปลูกบุกผสมผสานพืชอื่น โดยการนำงานวิจัยมาใช้แบบครบวงจร แก่สมาชิกโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ตามพระราชดำริฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรในเครือข่ายได้รับการส่งเสริมให้นำงานวิจัยมาใช้เพื่อยกระดับผลผลิต ไม่น้อยกว่า 300 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                    กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมพัฒนายกระดับการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า กลุ่มโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ตามพระราชดำริฯ เพื่อให้สมาชิกในโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ได้รับการจ้างงาน ไม่น้อยกว่า 15 ครัวเรือน และมีช่องทางประจำในการขายผลผลิตไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                    กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมเพิ่มศักยภาพในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจกาแฟ บ้านสบป่อง จำนวน 25 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจกาแฟ บ้านแม่เหาะ จำนวน 25 ครัวเรือน และเครือข่าย 11 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจกระเทียม บ้านนาปลาจาด จำนวน 25 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจข้าว บ้านปางหมู จำนวน 128 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น

                    กิจกรรมที่ 4 กิจกรรมยกระดับการนำผลผลิตจากวนเกษตร (ไผ่) มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์มีสมาชิกกลุ่มอย่างน้อย 11 ครัวเรือน 11 ผลิตภัณฑ์ ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

                    กิจกรรมที่ 5 กิจกรรมเพิ่มศักยภาพกลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน / กลุ่มผลิตภัณฑ์จากแกะ ตามแนวพระราชดำริ โดยแบ่งเป็น กลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน ด้วยการจัดอบรม ฝึกปฏิบัติ สร้างเครือข่าย รวมถึงการพัฒนายกระดับฟาร์มไก่แม่ฮ่องสอนตัวอย่างสู่มาตรฐานระบบป้องกันโรค GFM ให้แก่กลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นสมาชิกของสำนักงานปศุสัตว์ จำนวน 39 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

                    ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์จากแกะดำเนินการโดยการให้ความรู้และการฝึกปฏิบัติจริงในการผลิตผลิตภัณฑ์จากแกะให้มีคุณภาพ สำหรับกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากแกะของศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ จำนวน 20 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

                    กิจกรรมที่ 6 กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า กลุ่มสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอนในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมจัดทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยจะได้จัดอบรมเผยแพร่องค์ความรู้สำหรับยกระดับการผลิตสินค้าหรือบริการให้เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวโดยใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แก่สมาชิกศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอนในพระบรมราชินูปถัมภ์ จำนวน 350 ราย ดำเนินงานโดยอุตสาหกรรม พัฒนามูลนิธิ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

                    นอกจากนี้ภายในงานได้จัดให้มีการเสวนาหัวข้อ “แนวทางการดำเนินงานภายใต้โครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน” โดย นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ คุณอารีรัตน์ วารินทร์ วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรม่อนตะแลง และ คุณเธียรชัย แซ่จู วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรหนองผาจ้ำ

                    สำหรับงานแถลงข่าวในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ตามแนวทางประเทศไทย 4.0 เพื่อให้การพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอนและการแก้ไขปัญหาความยากจนบรรลุผลสำเร็จตามเป้าประสงค์ เชื่อมโยงความสอดคล้อง ทั้งโครงการเร่งด่วนและโครงการพัฒนา โดยใช้องค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ควบคู่กับการสร้างและขยายช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ลดปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนต่อไป

ข่าว : สุกัญญา แก้ววรรณ นักประชาสัมพันธ์ ม.ราชภัฏเชียงใหม่
ภาพ : วัชระ ไทยบัณฑิตย์ นักประชาสัมพันธ์ ม.ราชภัฏเชียงใหม่

ประมวลภาพถ่ายกิจกรรม >> Click







เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"

ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

        C Community  สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล

        M Moral   สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม

        R Royal  น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม

        U Unity   ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว

อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"

คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และเป็นพลเมืองดี (5 ดี)

รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัย

Find CMRU APP at Play Store Find CMRU APP at Play Store
สงวนลิขสิทธิ์ 2558, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ดูแลระบบ; admin@cmru.ac.th

ติดต่อมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.ช้างเผือก ต.ช้างเผือก
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
โทรศัพท์: 053-412151-155
อีเมล์ : saraban@cmru.ac.th
 

ติดต่อเรา