มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Chiang Mai Rajabhat University

ม.ราชภัฏเชียงใหม่จับมือปางช้างแม่แตง เปิดโรงเรียนควาญช้าง ยกระดับควาญช้างไทยสู่สากลมุ่งพัฒนาศักยภาพควาญช้างสู่สวัสดิการที่ดี เงินเดือนเทียบเท่าปริญญาตรี

 

 

ม.ราชภัฏเชียงใหม่จับมือปางช้างแม่แตง เปิดโรงเรียนควาญช้าง ยกระดับควาญช้างไทยสู่สากลมุ่งพัฒนาศักยภาพควาญช้างสู่สวัสดิการที่ดี เงินเดือนเทียบเท่าปริญญาตรี



เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องประชุมเอื้องคำ ชั้น 3 อาคารราชภัฏเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่  อ.ดร.บังอร ฉัตรรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ม.ราชภัฏเชียงใหม่ พร้อมด้วย อ.ดร.รัชพล  สัมพุทธานนท์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อ.วรพล  วัฒนเหลืองอรุณ  อาจารย์ประจำภาควิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับ  ดร.บุญทา ชัยเลิศ ประธานบริหารปางช้างแม่แตง พร้อมคณะทำงาน สพ.ญ.พนิดา เมืองหงษ์ สัตวแพทย์ประจำคลีนิกช้าง ปางช้างแม่แตง                 และ คณะทำงานจากสถาบันวิจัยและพัฒนา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมมัคคุเทศน์จังหวัดเชียงใหม่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเชียงใหม่ และการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ในการแถลงข่าวโครงการอบรมควาญช้างอาชีพระดับพื้นฐาน ซึ่งเป็นความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านช้างสาขาต่าง ๆ จัดหลักสูตรควาญช้างอาชีพเพื่อยกระดับควาญช้างไทยให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น ตอบสนองความต้องการของตลาดที่กำลังขาดแคลนควาญช้างที่เชี่ยวชาญอย่างแท้จริงอันจะนำไปสู่การพัฒนาวงการช้างไทยพัฒนาสวัสดิการของควาญช้างและเพื่อสวัสดิภาพที่ดีของช้างไทย

โดยในการอบรมครั้งนี้เป็นหลักสูตรควาญช้างอาชีพขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลทั่วไปหรือที่เป็นควาญช้างอยู่แล้ว แต่ต้องการเพิ่มพูนประสบการณ์และความรู้ เพื่อยกระดับเงินเดือนและนำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพที่ดีขึ้นใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 85 ชั่วโมง กำหนดอบรมในระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน - วันที่ 8 กรกฎาคม 2562 ทั้งด้านวิชาการและการฝึกปฏิบัติ เช่น ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่ออาชีพควาญช้าง+แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อวิชาชีพควาญช้าง (6 ชั่วโมง) เนื้อหาเกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญของการท่องเที่ยว องค์ประกอบและบทบาทของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แผนพัฒนาการท่องเที่ยวและยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของประเทศ และการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับวิชาชีพ  บุคลิกภาพและทัศนคติเพื่องานบริการ (3 ชั่วโมง)  จิตวิทยาบริการเพื่ออาชีพควาญช้าง (3 ชั่วโมง)              การสื่อสารภาษาอังกฤษเพื่องานบริการ (20 ชั่วโมง) ,การสื่อสารภาษาจีนเพื่องานบริการ (20 ชั่วโมง) เนื้อหาภาคบรรยาย หัวข้อความรู้เรื่องช้างเบื้องต้น (3 ชั่วโมง) เนื้อหาภาคบรรยาย หัวข้อการฝึกขี่ช้างและควบคุมบังคับช้าง (9 ชั่วโมง) เนื้อหาภาคบรรยาย วัฒนธรรมและประเพณีการเลี้ยงช้าง (3 ชั่วโมง) เนื้อหาภาคปฏิบัติ การฝึกหัดขี่ช้างและควบคุมบังคับช้าง (9 ชั่วโมง) การทดสอบการผ่านหลักสูตร (9 ชั่วโมง)

            ดร.บุญทา ชัยเลิศ ผู้ริเริ่มโครงการฝึกอบรมควาญช้างอาชีพ หรือ โรงเรียนควาญช้างมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้เปิดเผยว่า ด้วยความที่เป็นนักวิชาการและเป็นเจ้าของกิจการปางช้าง เล็งเห็นว่าควรมีการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับช้างอย่างเป็นระบบเพื่อพัฒนาวงการช้างไทย และพัฒนาศักยภาพของควาญช้างให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น จึงได้เชิญชวนผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างในด้านต่างๆ มาร่วมกันร่างหลักสูตรเพื่อก่อตั้งเป็นโรงเรียนควาญช้าง ซึ่งรับประกันว่าผู้ที่ผ่านการอบรมจากโครงการนี้จะมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับและจะเป็นผู้ที่มีความรักช้าง นำไปสู่การดูแลช้างไทยของเราได้ดี ทำให้ช้างได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมีสวัสดิภาพที่ดี และตัวควาญช้างเองก็จะได้รับสวัสดิการที่ดีขั้น มีการยกระดับเงินเดือนให้สูงขึ้นถึงเทียบเท่าระดับปริญญาตรีหรือมากกว่านั้นถ้างานมีลักษณะที่พิเศษขึ้น และสามารถเข้าร่วมการอบรมหลักสูตรควาญช้างอาชีพขั้นกลาง และหลักสูตรควาญช้างอาชีพขึ้นสูงได้ต่อไปในอนาคต

           ดร.บุญทา ได้เปิดเผยต่อไปว่า อาชีพควาญช้างนั้นเป็นอาชีพที่ขาดแคลนอย่างมากในตอนนี้ เพราะช้างเลี้ยงอยู่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตามปางช้างต่างๆ ทั่วประเทศไทยมีจำนวนมากกว่าสองพันเชือก แต่บุคลากรไม่เพียงพอ เพราะการเลี้ยงช้างให้ดีนั้นไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ นอกจากจะมีความกล้าหาญแล้วจะต้องมีความรักที่แท้จริงต่อช้างด้วย ถึงจะดูแลกันได้ดี เพราะควาญช้างคือคนที่จะต้องมีความใกล้ชิดกับช้างมากที่สุด ต้องดูแลทั้งการเตรียมอาหาร ให้อาหาร อาบน้ำ เป็นเพื่อนร่วมทำงานด้วยกัน พาออกกำลังกาย พาเดินเล่น แทบจะเรียกได้ว่าเลี้ยงดูกันแบบประคบประหงมกันเลยทีเดียว ทางปางช้างต่างๆ ยังมีความต้องการควาญช้างอยู่เป็นจำนวนมาก นับว่าอาชีพนี้เป็นที่ต้องการของตลาด

ดร.บังอร ฉัตรรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้เปิดเผยว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และสนองตอบพระราโชบายของรัชกาลที่ 10 ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและสนองตอบโดยใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ ในการพัฒนาท้องถิ่นตามความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริงจึงได้เข้าร่วมในการพัฒนาหลักสูตรการอบรมควาญช้าง และก่อตั้งโรงเรียนควาญช้าง ในครั้งนี้ ร่วมกับปางช้างแม่แตงโดยได้รวบรวม คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านการท่องเที่ยว การภาษาจีนและภาษาอังกฤษ และด้าน ศาสตร์พระราชาในส่วนของเศรษฐกิจพอเพียง ของมหาวิทยาลัย มาเป็นวิทยากร ให้ความรู้แก่ผู้เข้าอบรมในครั้งนี้
               
นางวาสนา ชัยเลิศ ทองสุข กรรมการผู้จัดการปางช้างแม่แตง ได้เปิดเผยว่า ในการอบรมควาญช้างมืออาชีพครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานควาญช้างและเป็นการพัฒนาศักยภาพของควาญช้างแล้ว อีกจุดมุ่งหมายหนึ่งของเราก็คือเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการเลี้ยงช้างไทยเอาไว้ให้อยู่คู่กับบ้านเมืองเราต่อไป เพราะวิถีของคนเลี้ยงช้างนั้นอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ผูกพันกันอย่างแนบแน่นประเทศชาติของเรา ถึงแม้ว่าในปัจจุบันวงการช้างไทยของเราจะถูกโจมตีอย่างหนักจากสื่อมวลชนต่างประเทศว่าทารุณช้าง ใช้แรงงานช้าง โดยเขาทำกันเป็นขบวนการที่มุ่งทำลายวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างของไทยเรา อ้างไปถึงทฤษฎี อ้างองค์ความรู้ต่างๆ นานาของชาติตะวันตก เอาชุดความรู้ของเขามาจับผิดการเลี้ยงช้างของคนไทย ทั้งๆ ที่ประเทศของเขาไม่เคยมีช้าง ไม่เคยเลี้ยงช้าง แต่พยายามเหลือเกินที่จะมาสั่งมาก้าวก่ายให้คนไทยเลี้ยงช้างอย่างที่พวกเขาต้องการอย่างที่พวกเขาเข้าใจผิดกัน ความรู้ของพวกเขาเป็นทฤษฎีจากจินตนาการ ไม่อิงอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่รับฟังไม่รับรู้งานวิจัยใดๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงช้างที่มีวิทยาศาสตร์รองรับ แล้วพากันมุ่งโจมตีวงการช้างไทยอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานนับสิบปีแล้ว  การเปิดโรงเรียนควาญช้างขึ้นมาก็เพื่อที่จะเป็นการยืนยันว่าการเลี้ยงช้างของคนไทยเรานั้น มีหลักการที่สืบสานต่อกันมาหลายช่วงอายุคนแล้ว ไม่ใช่เป็นการทารุณช้างอย่างที่พวกเขาพากันเข้าใจผิด ซึ่งอาจจะเป็นได้ว่ากลุ่มคนที่เข้าใจผิดและสร้างกระแสข่าวด้านลบให้กับวงการช้างไทยนั้น ได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากคนไทยบางคนที่มุ่งโจมตีการเลี้ยงช้างไทยมาโดยตลอด โดยไม่ทราบว่าเขามุ่งหวังสิ่งใด ไม่รู้ว่ามีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงหรือไม่ แต่ที่ชัดเจนคือคนไทยที่ให้ข้อมูลด้านลบของวงการช้างไทยให้กับสื่อต่างชาตินั้นนับว่าเป็นผู้ที่กำลังทำร้ายประเทศไทย กล้าที่จะโจมตีแม้กระทั่งประเทศของตัวเองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

นางวาสนา ได้กล่าวต่อไปว่า จากประสบการณ์ที่เปิดปางช้างมาเป็นเวลากว่า 24 ปีนั้น คิดว่าเปิดโรงเรียนควาญช้างอาชีพร่วมกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่นั้น เป็นการจัดระเบียบองค์ความรู้เรื่องของการเลี้ยงช้างตามวิถีวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างแบบไทยเรา จะเป็นประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้ากับวงการช้างไทย ทั้งในด้านของการอนุรักษ์ช้าง สร้างควาญช้างใหม่ๆ ขึ้นมา อนุรักษ์อาชีพควาญช้าง และจะเป็นการยืนหยัดยืนยันอย่างมั่นคงว่าเราไม่หวั่นไหวต่อกระแสโจมตีใดๆ จากต่างประเทศ ถ้าคนเลี้ยงช้างไทยเราเข้มแข็งร่วมมือร่วมใจกันดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างของเราไว้ ก็จะไม่สามารถมีใครมาโจมตีวงการช้างไทยของเราได้

       สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ เรารับทุกระดับความรู้ ไม่จำกัด แต่ถ้าจบระดับการศึกษาภาคบังคับมาก็จะทำให้การเรียนรู้เป็นไปได้ดีขึ้น โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามและสมัครได้ที่  สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ http://www.research.cmru.ac.th/mahout หรือติดต่อสอบถามได้ที่ Email address : research_cmru@hotmail.com

            หลักสูตร “ควาญช้างอาชีพ ระดับพื้นฐาน” (85 ชั่วโมง) มีระยะเวลาการอบรมตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 สถานที่อบรมที่ปางช้างแม่แตง  อ.แม่แตง และที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ค่าใช้จ่ายในการอบรม  7,000 บาทชำระค่าอบรมได้ที่ เลขที่บัญชี : ธนาคารกรุงเทพ สาขามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ชื่อบัญชี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (กองทุนสถาบันวิจัยและพัฒนา) เลขที่บัญชี  510-7-08700-8  ระยะเวลาการสมัครบัดนี้ ถึง 5 มิถุนายน 2562 จบการอมรมจะได้รับหลักฐานการสำเร็จการศึกษา  ประกาศนียบัตร “ควาญช้างมืออาชีพ ระดับพื้นฐาน”

 















ข้อมูล / ข่าว : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ภาพ : นางสาวพัชริดา เขียวขุนเนิน นักประชาสัมพันธ์ งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่


ประมวลภาพกิจกรรม >> Click    

เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"

ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

        C Community  สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล

        M Moral   สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม

        R Royal  น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม

        U Unity   ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว

อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"

คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และเป็นพลเมืองดี (ดี)  

รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัย

Find CMRU APP at Play Store Find CMRU APP at Play Store
สงวนลิขสิทธิ์ 2558, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ดูแลระบบ; admin@cmru.ac.th

ติดต่อมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.ช้างเผือก ต.ช้างเผือก
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
โทรศัพท์: 09-6046-9468
อีเมล์ : saraban@cmru.ac.th