“คณะช้างเผือกสามัคคี” มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ การประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน “รวมศิลป์แผ่นดินสยาม”
“คณะช้างเผือกสามัคคี” มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ
การประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน “รวมศิลป์แผ่นดินสยาม”
ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ในการนี้ “คณะช้างเผือกสามัคคี” ซึ่งสมาชิกประกอบไปด้วย นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาดนตรีศึกษา และสาขานาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ผ่านการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนภาคเหนือ 3 คณะสุดท้าย เพื่อเข้าประกวดรอบชิงชนะเลิศ หลังจากผ่านรอบคัดเลือก เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมคัดเลือกจากแนวคิดการแสดง และตัวอย่างการแสดง ที่ได้แสดงต่อหน้าคณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วย ศิลปินแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน ทั้งนี้ คณะช้างเผือกสามัคคีได้ผ่านเข้ารอบมาได้จนได้เป็นตัวแทนภาคเหนือ ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะจัดการแข่งขันในวันที่ 2 เมษายน 2563 ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ กรุงเทพมหานคร
สำหรับแนวคิดการแสดงของคณะช้างเผือกสามัคคีที่สามารถเอาชนะใจคณะกรรมการผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้นั้น มีชื่อชุดการแสดงว่า “เทิดขวัญบรมราชกุมารีสิรินธร” ในแนวคิดการแสดงของชาวล้านนาที่มีความเชื่อเกี่ยวกับพระธาตุประจำปีเกิด เชื่อว่าก่อนที่มนุษย์จะมาเกิดวิญญาณจะมาชุอยู่ที่พระธาตุสำคัญประจำเมืองต่าง ๆ (“ชุ” หมายถึง ตั้ง, วาง,รวม, สุม, ประชุม) ดังนั้น คำว่า “ชุธาตุ” คือ การกราบไหว้บูชาเป็นที่พึ่งพาของตนและจะต้องไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตน ตามคติชาวล้านนาถือว่าการบูชาพระธาตุประจำปีเกิดจะทำให้ความเป็นสิริมงคลบังเกิดแก่ผู้สักการบูชา พระธาตุปีเกิดของชาวล้านนาจะมีความแตกต่างไปตามปีนักษัตร (ตัวเปิ้ง) โดยในปี พ.ศ.2563 นี้ เป็นปีหนู (ปีไจ้) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุศรีจอมทอง ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานหลายร้อยปี ตลอดจนชาวเชียงใหม่ให้ความเคารพพระธาตุศรีจอมทองอย่างสูง กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เช่น พระเมืองแก้ว ได้บูรณะตลอดจนสร้างวิหารจตุรมุข มีจารีตการเสด็จมาสักการะพระธาตุ ตลอดจนอัญเชิญพระบรมธาตุเข้าเวียงเชียงใหม่เพื่อโปรดพุทธศาสนิกชน คณะผู้ทำการแสดงจึงใช้แนวคิดการอาราธนาคุณแห่งพระบรมธาตุเจ้าศรีจอมทอง ได้อำนวยศรีสวัสดิมงคลแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับการแสดงนั้น จะถ่ายทอดความเป็นชาวเชียงใหม่สายใต้ คือ วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ลักษณะเฉพาะทางดนตรี การแต่งกายของชาวอำเภอจอมทอง อำเภอดอยหล่อ อำเภอฮอด และอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ มาผสมผสานและเป็นองค์ประกอบในการดำเนินการแสดง
รับชมคลิปการแสดง:
ขอบคุณข้อมูลจาก : อาจารย์สงกรานต์ สมจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้านล้านนา, อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรีและศิลปะการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ข่าว : นางสาววัชราวรรณ กันทา นักประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และ เป็นพลเมืองดี (5 ดี)