มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Chiang Mai Rajabhat University

ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น (BRIC) มร.ชม. ชี้แจงข้อสงสัยของประชาชน กรณีสาหร่ายสีเขียวในแม่น้ำปิง

2 มิ.ย. 2563 โดย วัชราวรรณ กันทา
 


ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น (BRIC) มร.ชม.

ชี้สาหร่ายสีเขียวในแม่น้ำปิงเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ แต่หากมีมากเกินไป อาจเกิดปัญหาทางระบบนิเวศน์

แนะให้ประชาชนร่วมกันตะหนักถึงปัญหา และให้ทุกฝ่ายหาแนวทางป้องกันและควบคุมปัญหาอย่างยั่งยืน



อาจารย์ ดร.ทัตพร คุณประดิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์พันธุ์ ลีฬหเกรียงไกร อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีสาหร่ายสีเขียวลอยเป็นแพในแม่น้ำปิง บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ สะพานนครพิงค์ สะพานนวรัฐ ไปจนถึงสะพานเหล็ก เพื่อคลายข้อสงสัยแก่ประชาชน

สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพน้ำและระบบนิเวศน์ในแม่น้ำปิง หลังจากมีสาหร่ายสีเขียวลอยปกคลุมหนาแน่นทั่วผิวน้ำ แม้ว่าสาหร่ายดังกล่าวยังไม่ส่งกลิ่นเน่าเหม็นและยังไม่ปรากฏว่ามีสัตว์น้ำลอยตาย ก็ถือเป็นทัศนอุจาดแก่สายตาของผู้พบเห็นไม่น้อย


มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จึงได้ร่วมให้ความรู้และชี้แจงต่อกรณีที่เกิดขึ้นด้วย โดย อาจารย์ ดร.ทัตพร คุณประดิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น (BRIC) ได้ชี้แจงว่า “เป็นปรากฏการณ์ที่ในทางวิชาการเรียกว่า ยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) เกิดจากการที่ในน้ำมีสารอินทรีย์ที่เป็นอาหารของสาหร่ายจำนวนมาก ทั้งจากการที่ฝนตกแล้วชะล้างลงมาและการปล่อยของเสีย ประกอบกับช่วงนี้มีแสงแดดจัด ทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องปกติที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งต่อฤดูฝน เพียงแต่ในกรณีนี้เกิดขึ้นมากผิดปกติ เพราะน้ำนิ่งจากการกักน้ำ แต่หากน้ำไหลก็จะไม่มีการสะสม และตามระบบปกติในธรรมชาตินั้น สาหร่ายเหล่านี้ก็จะเป็นอาหารของปลา ซึ่งจะทำให้ถูกกำจัดออกไปตามห่วงโซ่อาหารอยู่แล้ว สำหรับสาหร่ายชนิดดังกล่าว เบื้องต้นเชื่อว่าไม่น่าจะมีพิษเพราะทั่วไปแล้วสาหร่ายในระบบนิเวศน์น้ำไหลอย่างแม่น้ำนั้น เป็นสาหร่ายไม่มีพิษ ทั้งยังเป็นอาหารของปลา จึงไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต แต่ยอมรับว่าการที่มีจำนวนมากเกินไปทำให้เกิดภาพที่ไม่สวยงาม ส่งผลต่อทัศนียภาพและหากปล่อยไว้โดยที่ไม่มีการเฝ้าระวัง บำบัดหรือควบคุม อาจจะก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นในแหล่งน้ำได้ เนื่องจากในช่วงเวลากลางคืนสาหร่ายสังเคราะห์แสงไม่ได้ ออกซิเจนในน้ำลดน้อยลง และต้องแย่งออกซิเจนกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น อาจทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นขาดออกซิเจนจนตายไป ทั้งนี้ หากเกิดต่อเนื่องยาวนานอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียได้ แต่ในกรณีนี้ของแม่น้ำปิง เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่หน้าฝนและน้ำไหลแล้วสาหร่ายเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ หมดไป”

           ทั้งนี้ อาจารย์ ดร.ทัตพร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “กรณีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าแม่น้ำปิงมีแนวโน้มเกิดความเสี่ยงต่อปัญหารุนแรงขึ้นได้ เพราะมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาอยู่หลายประการ อาทิ การปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำปิงของประชาชนและผู้ประกอบการที่ควรให้ความตระหนักและช่วงกันป้องกันหรือลดความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังบ่งบอกว่าในแม่น้ำปิงมีปลาหรือสัตว์น้ำขนาดใหญ่ลดลง เหลือแต่ปลาขนาดเล็ก จึงทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตและขยายพันธุ์จำนวนมาก แทนที่จะถูกกำจัดไปตามระบบห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งปัญหาประตูระบายน้ำและกักน้ำด้วยเหตุผลความจำเป็นต่าง ๆ ทำให้ต่อจากนี้ อาจต้องมีการพิจารณาเกี่ยวเรื่องการกักเก็บและบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุลมากยิ่งขึ้น”


 

              ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์พันธุ์ ลีฬหเกรียงไกร อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โดยทั่วไปปรากฏการณ์นี้จะเกิดในแหล่งน้ำนิ่ง จึงเชื่อว่าปัญหานี้แก้ไขได้เพียงรอน้ำใหม่ไหลมา เพื่อชะล้างสาหร่ายที่เกิดขึ้นให้ไหลไปตามระบบเจือจาง ขณะเดียวกัน ประชาชนไม่ต้องเป็นกังวลว่าสาหร่ายชนิดนี้จะเป็นอันตรายกับมนุษย์ เพราะไม่น่าจะใช่สาหร่ายพิษ โดยปรากฏการณ์นี้คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในคูเมืองเชียงใหม่ ที่น้ำนิ่งประกอบกับมีสารอาหารและแสดงแดดดี ทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้เร็ว แต่ในกรณีแม่น้ำปิงดีกว่าคูเมืองเชียงใหม่เพราะเป็นแม่น้ำที่เป็นระบบนิเวศน์น้ำไหล เมื่อน้ำไหลตามปกติ สาหร่ายก็จะหายไป เมื่อกรณีที่เกิดขึ้น มองว่าควรจะเป็นสิ่งสะท้อนให้ประชาชนได้เกิดความตระหนักว่าการปล่อยน้ำเสียหรือการใช้น้ำผิดประเภทจะก่อให้เกิดปัญหาตามมา ส่วนเรื่องการบริหารจัดการเปิดปิดประตูน้ำ ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงความเหมาะสม เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวต่อไป”




คลิปข่าวจากสำนักข่าว Thai PBS




ฟังคลิปสัมภาษณ์ฉบับเต็ม จากเว็บไซต์ข่าว : กูรูเชียงใหม่


ขอขอบคุณภาพข่าวจาก : ผู้จัดการออนไลน์

คลิปข่าวจาก : ThaiPBS และกูรูเชียงใหม่



เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"

ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

        C Community  สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล

        M Moral   สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม

        R Royal  น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม

        U Unity   ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว

อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"

คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  

คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และ เป็นพลเมืองดี (ดี)


รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัย

Find CMRU APP at Play Store Find CMRU APP at Play Store
สงวนลิขสิทธิ์ 2558, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ดูแลระบบ; admin@cmru.ac.th

ติดต่อมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.ช้างเผือก ต.ช้างเผือก
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
โทรศัพท์: 08-1293-9749
อีเมล์ : saraban@cmru.ac.th