มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Chiang Mai Rajabhat University

นักศึกษา มร.ชม. ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทาน การแข่งขันดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน “รวมศิลป์แผ่นดินสยาม” พ.ศ. 2563

 

นักศึกษา มร.ชม. ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทาน

การแข่งขันดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน “รวมศิลป์แผ่นดินสยาม” พ.ศ. 2563


          เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 5 กรกฎาคม 2563 คณะช้างเผือกสามัคคี โดยนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตสาขาดนตรีศึกษา และสาขานาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้รับรางวัลชนะเลิศ  ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน รวมศิลป์แผ่นดินสยาม ภาคเหนือ จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีนายชัยพล สุขเอี่ยม รอง อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประธานในพิธีเป็นผู้มอบรางวัล ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้มีโจทย์ในการประกวด คือ จะต้องสร้างสรรค์ชุดการแสดงและการบรรเลง โดยนำการแสดงพื้นบ้านภาคเหนือแบบ “บูรณศิลป์” มาเรียงร้อยให้มีความเชื่อมโยง กลมกลืน สัมพันธ์กัน บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ และวิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม วรรณคดีและวรรณกรรม


          สำหรับแนวคิดการแสดงของคณะช้างเผือกสามัคคีที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ เนื่องในวาระวันคล้ายวันพระราชสมภพ ๖๕ พรรษา ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระผู้ทรงคุณอันประเสริฐแก่วงการศิลปวัฒนธรรมไทย วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2563 ตลอดจนรัฐบาลได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันอนุรักษ์มรดกไทยนั้น คณะผู้ทำการแสดง จึงได้ออกแบบการแสดงโดยใช้แนวคิด “บูรณศิลป์” คือ นำเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมล้านนา ทั้งดนตรี นาฏศิลป์ตลอดจนขนบธรรมเนียมวิถีชีวิตมาออกแบบเป็นชุดการแสดง “เทิดขวัญราชกุมารีสิรินธร”


          ชาวล้านนามีความเชื่อเกี่ยวกับพระธาตุประจำปีเกิด ชาวล้านนามีความเชื่อว่าก่อนที่มนุษย์จะมาเกิด วิญญาณจะมาชุอยู่ที่พระธาตุสำคัญประจำเมืองต่าง ๆ (“ชุ” หมายถึง ตั้ง, วาง, รวม, สุม, ประชุม) ดังนั้น คำว่า “ชุธาตุ” คือ การกราบไหว้บูชาเป็นที่พึ่งพาของตน และจะต้องไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตน ตามคติชาวล้านนาถือว่าการบูชาพระธาตุประจำปีเกิดจะทำให้ความเป็นสิริมงคลบังเกิดแก่ผู้สักการบูชา พระธาตุปีเกิดของชาวล้านนาจะมีความแตกต่างไปตามปีนักษัตร (ตัวเปิ้ง)


          ในปี พ.ศ. 2563 นี้ เป็นปีหนู (ปีไจ้) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุศรีจอมทอง ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานหลายร้อยปี ตลอดจนชาวเชียงใหม่ให้ความเคารพพระธาตุศรีจอมทองอย่างสูง กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เช่น พระเมืองแก้ว ได้บูรณะตลอดจนสร้างวิหารจตุรมุข มีจารีตการเสด็จมาสักการะพระธาตุ ตลอดจนอัญเชิญพระบรมธาตุเข้าเวียงเชียงใหม่เพื่อโปรดพุทธศาสนิกชน

          คณะผู้ทำการแสดงจึงจะใช้แนวคิดการอาราธนาคุณแห่งพระบรมธาตุเจ้าศรีจอมทอง ได้อำนวยศรีสวัสดิมงคลแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับการแสดงนั้น จะถ่ายทอดความเป็นชาวเชียงใหม่สายใต้ คือ วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ลักษณะเฉพาะทางดนตรี การแต่งกาย ของชาวอำเภอจอมทอง อำเภอดอยหล่อ อำเภอฮอด และอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ มาผสมผสานและเป็นองค์ประกอบในการดำเนินการแสดง

          รูปแบบการแสดง แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้

          ช่วงที่ 1 วิถีชีวิตชาวจอมทอง สวมเสื้อ นุ่งซิ่นตีนจกลวดลายจอมทอง ห่มสะไบ เกล้าผมเหน็บดอกเอื้อง ตลอดจนขั้นตอนของการเก็บดอกไม้เพื่อประดิษฐ์สวยดอกเตรียมที่จะนำไปถวาย พระทักขิณโมลีธาตุ ตลอดจนการซ้อมฟ้อนเล็บ

          ช่วงที่ 2 ชาวจอมทองจะไปรวมตัวและตั้งขบวนแห่ โดยมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น อาทิเช่นฟ้อนก๋ายลาย ประกอบวงกลองมองเซิง ที่ถือได้ว่าเป็นภาพที่คุ้นตาของคนจอมทอง

          ช่วงที่ 3 การอัญเชิญพระทักขิณโมลีธาตุ หรือพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง ออกมาเพื่อรับการสรงน้ำ และขอพรให้ปกปักรักษาคุ้มครอง กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดจนการแสดงเฉลิมฉลองอาทิเช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ

          สำหรับรายละเอียดของบทเพลง ได้ออกแบบและบรรจุบทเพลงให้สอดคล้องกับแนวคิดการแสดง สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็น “เชียงใหม่สายใต้” ดังนี้

1. ซอบะเก่าบะกล๋าง เป็นทำนองซอซึ่งใช้จังหวะแบบพื้นบ้าน อิสระ ปัจจุบันไม่ปรากฏการซอทำนองนี้แล้ว

2. วงสะล้อ ซอ ซึง โดยใช้บทเพลงที่เป็นของเดิม และปรับปรุงตลอดจนประพันธ์ขึ้นใหม่ ซึ่งแสดงถึงความเป็นชาวเชียงใหม่สายใต้ ใช้แนวการบรรเลงจากฐานข้อมูลดนตรีล้านนาเจอรัลด์ไดค์ ราว 50 ปีก่อน ได้แก่ (1) เพลงปราสาทไหว ใช้หน้าทับแบบชาวบ้าน (2) เพลงปี่จุมห้า กำกับหน้าทับด้วยกลองมองเซิงสำเนียงเชียงใหม่สายใต้

3. กลองจุมวัดพระธาตุศรีจอมทอง ทำนองกลองจุมนี้ใช้บรรเลงเฉพาะการอัญเชิญพระบรมธาตุศรีจอมทอง

4. วงสะล้อ ซอ ซึง ประสมกลองเต่งถิ้ง บรรเลงเพลงต่าง ๆ ได้แก่

(1) เพลงปี่จุมห้าอีกสำนวนหนึ่งที่ปรับปรุงใหม่

(2) เพลงเทิดขวัญ เป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่โดยใช้ฐานคิดจากวัฒนธรรมดนตรีล้านนา ใช้จังหวะหน้าทับผีมดกินน้ำมะพร้าว สะท้อนความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษของผู้คนในท้องถิ่น ตลอดจนเป็นการใช้หน้าทับที่มีความซับซ้อน และใช้หน้าทับเพลงมวย แสดงถึงความงามแบบอิ่มเอม เกิดความปิติในกุศล

          สำหรับการแข่งขัน “รวมศิลป์แผ่นดินสยาม” ภาคเหนือ ของคณะช้างเผือกสามัคคี ได้ทำการแข่งขันรอบคัดเลือก ระดับภาคเหนือ จำนวน 10 คณะ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ณ เชียงใหม่ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่แอร์พอร์ต และได้ผ่านเข้ารอบเป็น 1 ใน 3 เพื่อแข่งขันรอบเชิงชนะเลิศ วันที่ 5 กรกฎาคม 2563 ณ หอประชุมกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จังหวัดเชียงราย กรรมการผู้ตัดสินเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา โดยมี แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เป็นประธานกรรมการ

 

 


          คณาจารย์ผู้ควบคุมการแสดง ได้แก่ อาจารย์ว่าที่ร้อยตรีสรายุทธ อ่องแสงคุณ อาจารย์ชัพวิญย์ ใจหาญ อาจารย์ประจำหลักสูตรนาฏศิลป์ คณะครุศาสตร์ และคุณครูจักรกฤษณ์ แสนใจ คุณครูโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นำนักศึกษา หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์บูรณพันธ์ ใจหล้า อาจารย์เมธินี อ่องแสงคุณ อาจารย์สงกรานต์ สมจันทร์ อาจารย์ณัฐนรี รัตนสวัสดิ์ อาจารย์ทรงพล เลิศกอบกุล และนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์  ในนาม “คณะช้างเผือกสามัคคี”

ภาพ – ข่าว: หลักสูตรนาฏศิลป์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่


 ประมวลภาพกิจกรรม>> Click

ชมการแสดง>> Click

เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"

ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

        C Community  สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล

        M Moral   สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม

        R Royal  น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม

        U Unity   ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว

อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"

คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  

คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และ เป็นพลเมืองดี (ดี) 

 

 

 

 

 

รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัย

Find CMRU APP at Play Store Find CMRU APP at Play Store
สงวนลิขสิทธิ์ 2558, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ดูแลระบบ; admin@cmru.ac.th

ติดต่อมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.ช้างเผือก ต.ช้างเผือก
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
โทรศัพท์: 08-1293-9749
อีเมล์ : saraban@cmru.ac.th