มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Chiang Mai Rajabhat University

มร.ชม. จัดการแสดงสุดอลังการ นาฏยนิพนธ์ ประจำปี 2563

 

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ มร.ชม.

จัดการแสดงสุดอลังการ นาฏยนิพนธ์ ประจำปี 2563


เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ณ ศาลาร่มโพธิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  ผศ.ดร.ปทมรัศมิ์ นาคนิษฐนนต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดการแสดงนาฏยนิพนธ์ ประจำปี 2563 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษา หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์  มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  ได้นำเสนอผลงานด้านการแสดงต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นการแสดงที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ การคิดริเริ่มสร้างสรรค์โดยในปี 2563 มีการแสดง จำนวน 4 ชุด







ได้แก่ ชุด มหาบุญจุลกฐินถิ่นแม่แจ่ม ซึ่งมีแนวคิดจากการศึกษาประเพณีจุกฐิน ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ นำเสนอวิถีชีวิตของชาวแม่แจ่ม กระบวนการทำผ้าอังสะเครื่องสักการะต่าง ๆ โดยวิธีการทำจักสานและวิธีการแห่จุกฐินผ่าน ท้องทุ่งนาของตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มาประดิษฐ์เป็นท่ารำที่แสดงออกผ่านท่าทางการร่ายรำที่งดงามอ่อนช้อย แบ่งออกเป็น 3 ช่วง

ช่วงที่ 1 รุ่งอรุณ บุญดอกฝ้าย การแสดงเล่าถึงวิถีชีวิตของชาวแม่แจ่มด้านการแต่งกายในวันปลูกฝ้ายเพื่อเตรียมเก็บฝ้ายในงานประเพณีจุกฐินแม่แจ่ม

ช่วงที่ 2 เก็บฝ้ายทอบุญ การแสดงเล่าถึงสาวพรหมจรรย์ทั้ง 4 คน เก็บฝ้ายเพื่อนำฝ้ายไปปั่นเป็นไหมทอผ้าจีวร เพื่อถวายพระสงฆ์ 1 รูป และเตรียมเครื่องสักการะพวกสัตว์ต่าง ๆ ที่ทำโดยไม้ไผ่ในรูปแบบการจักสานหรือรูปแบบผ้า

ช่วงที่ 3 สายบุญจุลกฐิน การแสดงเล่าถึงการแห่ขบวนจุลกฐินที่ประกอบไปด้วยผ้าไตรจีวรเครื่องสักการะเครื่องจักสาน ตุงโดยการแห่ขบวนผ่านทางทุ่งนาของชาวบ้านที่เกิดความสนุกสนาน ฟ้อนรำ ครื้นเครง ไปยังวัด โดยมี อาจารย์สุนิษา สุกิน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา


การแสดงชุดที่ 2 หลงลับแล คณะผู้วิจัยได้สร้างสรรค์การแสดง โดยได้ทำการศึกษาดนตรีของชาวลับแลเพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการประพันธ์เพลงประกอบการแสดงที่มีเครื่องดนตรีของภาคกลางผสมกับเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคเหนือรวมถึงมีเครื่องดนตรีสากล เกิดเป็นแนวเพลงร่วมสมัย โดยมีชื่อเพลงว่า "หลงลับแล" สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต กระบวนวิธีการปลูก เก็บเกี่ยวทุเรียนพันธุ์หลงลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยแบ่งช่วงการแสดงออกเป็น 3 ช่วง

คือช่วงที่ 1 วิถีศรัทธา นำเสนอถึงการเตรียมของเพื่อไปไหว้บรรพบุรุษก่อนการไปปลูกทุเรียนตามความเชื่อของชาวงอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเพลงมีจังหวะช้าสื่อถึงความศรัทธา

ช่วงที่ 2 ลีลาเพาะปลูก นำเสนอถึงกระบวนการวิธีการปลูกทุเรียนพันธุ์หลงลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเพลงมีจังหวะปานกลาง

และช่วงที่ 3 สุขสราญหลงลับแล นำเสนอถึงการเกี้ยวพาราสีของผู้ชายและผู้หญิงในการเก็บเกี่ยวทุเรียนพันธุ์หลงลับแล โดยเพลงมีจังหวะเร็วสนุกสนาน โดยมี อาจารย์ชัพวิชญ์ ใจหาญ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา



การแสดงชุดที่ 3 สีสันแห่งตรานาฏยลีลาสามชาติพันธุ์ ซึ่งมีแนวคิดจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงเปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จึงเป็นมหาวิทยาลัยที่มีกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาศึกษาจำนวนมากคณะผู้วิจัยจึงได้ค้นคว้าประวัติความเป็นมา ความหมายตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์เป็นการแสดงรูปแบบนาฏศิลป์เชิงสร้างสรรค์ ผสมผสานนาฏศิลป์ไทยและลีลาการเต้นของชนเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง และลัวะ โดยแบ่งช่วงการแสดงออกเป็น 3 ช่วง

ช่วงที่ 1 นำเสนอการจ๊อยซอคำเมืองประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งประพันธ์บทร้องและทำนองโดย วีรพล จุ่มใจ

ช่วงที่ 2 นำเสนอรูปแบบความหมายของสีที่ปรากฎในตราพระราชลัญจกรซึ่งเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย ผ่านการรำตามคำร้องของชนเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง และลัวะ

และช่วงที่ 3 กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงอุปถัมภ์มหาวิทยาลัยให้ลูกหลานทั้งชาวล้านนา และกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และอยู่ร่วมกันอย่างสมัครสมานสามัคคีประพฤติตนเป็นคนดี สมดังคำขวัญ "คนดีสร้างชาติไทย ราชภัฏเชียงใหม่สร้างคนดี" โดยมี อ.ดร.ไกรลาส จิตร์กุล และ  อ.ดร.ศริยา หงษ์ยี่สิบเอ็ด เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา



และการแสดงชุดสุดท้าย ชุดปี๋ใหม่เมือง ซึ่งมีแนวคิดสื่อถึงความโดดเด่นด้านประเพณีของจังหวัดเชียงใหม่ดินแดนอันเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม นำเอาเรื่องราวของปี๋ใหม่เมือง การเปลี่ยนศักราชใหม่ของชาวล้านนามาสร้างสรรค์เป็นการแสดงโดยแบ่งเป็น

ช่วงที่ 1 เป็นช่วงที่ชาวบ้านถือสลุงไปทำบุญที่วัด และนำตุงไปปักที่เจดีย์ทรายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่ชาวบ้าน พากันออกมาสรงน้ำพระ ประกวดนางงาม และเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน โดยมี อาจารย์ว่าที่ ร้อยตรีสรายุทธ อ่องแสงคุณ และ นายจักรกฤษณ์ แสนใจ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ซึ่งได้รับความสนใจจากอาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ผู้ปกครองและแขกผู้มีเกียรติร่วมชมการแสดงจำนวนมาก






ภาพ – ข่าว : นางสาวพัชริดา เขียวขุนเนิน นักประชาสัมพันธ์ งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 

ประมวลภาพกิจกรรมช่วงพิธีเปิดงาน>> Click    

ประมวลภาพการแสดงชุดที่1 >> Click    

ประมวลภาพการแสดงชุดที่2 >> Click    

ประมวลภาพการแสดงชุดที่3 >> Click    

ประมวลภาพการแสดงชุดที่4 >> Click    

เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"

ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

        C Community  สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล

        M Moral   สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม

        R Royal  น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม

        U Unity   ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว

อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"

คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี



รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัย

Find CMRU APP at Play Store Find CMRU APP at Play Store
สงวนลิขสิทธิ์ 2558, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ดูแลระบบ; admin@cmru.ac.th

ติดต่อมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.ช้างเผือก ต.ช้างเผือก
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
โทรศัพท์: 08-1293-9749
อีเมล์ : saraban@cmru.ac.th