มร.ชม. ร่วมกับนักวิจัยผู้รับทุน ประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาโครงการวิชาการเพื่อท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ภาคเหนือ
มร.ชม. ร่วมกับนักวิจัยผู้รับทุน ประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาโครงการวิชาการเพื่อท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ภาคเหนือ
ตามที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มีนโยบายการสร้างกระบวนการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยพิจารณาจัดสรรทุนการดำเนินงานแผนงานวิจัยการพัฒนาและยกระดับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ทางวิชาการรับใช้สังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุน ตามกรอบประเด็นวิจัยเชิงยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยลดความไม่สมดุลของการพัฒนา โดยมีกระบวนการขับเคลื่อนตามโครงการกลไกสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคเหนือซึ่งพัฒนาจากเดิมที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดวิธีการและออกเป็นนโยบายให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ แต่ในระยะหลังรัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยเปิดโอกาส ให้คนยากจนเป็นผู้ดำเนินการเองเป็นหลัก รวมทั้งการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยอันแสดงให้เห็นรูปธรรมต่าง ๆ ของการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ด้วยกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมของชุมชน (CBR) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของประชาชนในการพัฒนาชีวิตตนเองและชุมชนเมื่อได้รับโอกาส ปรากฏการณ์ดังกล่าวสมควรอย่างยิ่งที่นักวิชาการควรทำการสังเคราะห์และถอดบทเรียนในการสร้างตัวชี้วัดถึงการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ผ่านกระบวนการชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อนำมาสู่การผลักดันกลยุทธ์เชิงนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive growth) ในการพัฒนาประเทศต่อไป
ในการนี้ จึงได้พิจารณามอบหมายให้ ผศ.ดร.ศุภฤกษ์ ธาราพิทักษ์วงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นผู้บริหารกลไกสนับสนุนในภาคเหนือ อันจะเป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยเชิงพื้นที่อีก 7 โครงการย่อย ที่จะดำเนินการวิจัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและการศึกษา ในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปางและตาก ซึ่งรับทุนการวิจัยโดยนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตลำพูน โดยมุ่งหวังที่จะใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เรียกว่าศาสตร์สากลสร้างความเชื่อมโยงกับพื้นที่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (CBR) ที่มุ่งเน้นการใช้ศาสตร์ชาวบ้าน เพื่อการปฏิบัติจริงที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม ก่อนการพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาประเทศเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่สามารถดำเนินการได้จริง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17-18 ตุลาคม 2563 ได้มีการประชุมเพื่อวางแผนเริ่มดำเนินโครงการดังกล่าว ภายใต้หัวข้อ “การประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาโครงการวิชาการเพื่อท้องถิ่นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ภาคเหนือ” ณ ห้องประชุมเอื้องสายส่องแสง อาคารสำนักดิจิทัลเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล เป็นประธานการประชุม โดยมี นักวิจัยผู้รับทุนจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตลำพูน และพี่เลี้ยงศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง เข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน
ภาพ – ข้อมูล: ผศ.ดร.ศุภฤกษ์ ธาราพิทักษ์วงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เรียบเรียงข่าว: นางสาวพัชริดา เขียวขุนเนิน นักประชาสัมพันธ์ งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี