พิธีพระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคเหนือ ประจำปีการศึกษา 2559 - 2560 (มร.นครสวรรค์ และ มร.ลำปาง)
14 ธ.ค. 2563
โดย สุกัญญา แก้ววรรณ
Tweet
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคเหนือ ประจำปีการศึกษา 2559 - 2560
แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง


เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคเหนือ ประจำปีการศึกษา 2559 - 2560 เป็นวันสุดท้าย
ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเข้ารับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาสังคม ซึ่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในการช่วยเหลือประชาชน ทรงใช้พระปรีชาญาณของพระองค์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ชุมชนและท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ทรงงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เช่น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงามหลายสาขา เช่น การปั้น การทอ การจักสาน เป็นต้น และทรงรับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ด้วยทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการทหาร การบิน การบริหารบัญชาการหน่วยงานในสังกัด ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การต่างประเทศ การอนุรักษ์ธรรมชาติ การดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน ทรงใส่พระราชหฤทัยในสุขทุกข์ของประชาชน โดยทรงรับเป็นพระราชภารกิจสำคัญที่จะดูแลประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และทรงใช้พระปรีชาญานในการบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด ในการช่วยเหลือประชาชน ชุมชนและท้องถิ่น ทรงศึกษาการดำเนินงานในโครงการในพระราชดำริต่าง ๆ เพื่อทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด สนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
จากนั้น พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ประจำปีการศึกษา 2559 - 2560 โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มีผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ารับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ จำนวน 3 ราย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อารีย์ วชิรวราการ ผู้มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารการศึกษา เข้ารับพระราชทานปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ นักพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ เข้ารับพระราชทานปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ นายนิพนธ์ เที่ยงธรรม ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่จังหวัดนครสวรรค์ โดยประพันธ์นวนิยายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ทำให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เข้ารับพระราชทานปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มีผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ารับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ จำนวน 3 ราย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เล็ก แสงมีอานุภาพ ผู้บริหาร นักวิชาการ ที่พร้อมด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านการบริหารการศึกษา เข้ารับพระราชทานปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา นายณรงค์ นันทะแสน ผู้มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านของชีววิทยาพันธุ์พืช สมุนไพร และเภสัชกรรมไทย เข้ารับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาชีววิทยา และนายทนงศักดิ์ สีสมสอน หัวหน้าค่ายมวยพยัคฆ์ลำปาง อดีตนักกีฬามวยอาชีพ เข้ารับพระราชทานปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพลศึกษา ทั้งนี้มีดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิต และบัณฑิต จากทั้งสองมหาวิทยาลัย เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวนทั้งสิ้น 1,812 คน
สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคง มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพของนักศึกษา ให้เป็นพลเมืองดีมีวินัย มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง มีอาชีพการงานที่มั่นคง อีกทั้งมีการบริหารจัดการโดยเน้นความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ก่อให้เกิดโครงการต่างๆมากมาย อาทิ โครงการส่งเสริมความรู้ความสามัคคีโดยผ่านกิจกรรมวิศวกรสังคม
ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้ดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยทำหน้าที่ส่งเสริมให้มีพื้นที่ปฏิบัติการชุมชน หรือ Social Lab เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งของคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษาและชุมชน มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ และเป็นวิศวกรสังคม โดยน้อมนำแนวพระราชดำริสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน พร้อมกันนี้ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ มหาวิทยาลัยชนชาติยูนนาน มหาวิทยาลัยเปิดยูนนาน มหาวิทยาลัยครูชนชาติกว่างซี สาธารณรัฐประชาชนจีน มหาวิทยาลัย Sriwijaya และมหาวิทยาลัย Pattimura ประเทศอินโดนีเซีย
ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานอาหารกลางวัน อาหารเย็น และน้ำดื่ม แก่นักศึกษา บัณฑิต ญาติบัณฑิต และราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จด้วย










ข่าว : สุกัญญา แก้ววรรณ นักประชาสัมพันธ์ ม.ราชภัฏเชียงใหม่
ภาพ : นายวัชระ ไทยบัณฑิตย์ นักประชาสัมพันธ์ และทีมช่างภาพ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี