ผู้บริหาร มร.ชม. เยี่ยมชม ม.วลัยลักษณ์ ดูงานเตรียมการเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนฯ
อาจารย์ ดร.ถนัด บุญชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 7 ในปี พ.ศ. 2566 ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในทุกด้านจึงได้นำคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรพงษ์ วัฒนกูล , ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรศักดิ์ นุ่มมีศรี รองอธิการบดี พร้อมคณะผู้บริหาร นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ จำนวน 20 คน เข้าศึกษาดูงานการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 6 ในปี พ.ศ. 2564 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช


โดยเมื่อวันที่ 24 - 25 มีนาคม 2564 คณะศึกษาดูงานได้เข้าศึกษาดูงานการบริหารจัดการหอพักนักศึกษา ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับและบรรยายพิเศษ จากนั้นได้เข้าเยี่ยมชม “เมืองมหาวิทยาลัย” ได้แก่ สวนวลัยลักษณ์ , โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ , หอพักนักศึกษา , อาคารปฏิบัติการทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบอาคารไทยบุรี รวมทั้งอาคารที่ใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร , ศูนย์สมาร์ทฟาร์ม ปลูกพืชเศรษฐกิจกว่า 30,000 ต้น การเลี้ยงสัตว์ในระบบสมาร์ทฟาร์มด้วยการควบคุมฟาร์มผ่านระบบมือถือ และศูนย์กีฬาและนันทนาการ (Sport Complex)


ในการนี้ยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมคณะกรรมการอำนวยการและประธานอนุกรรมการเตรียมการจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนฯ ให้การต้อนรับ บรรยายสรุปการเตรียมงาน และให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมการจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ อพ.สธ. : ประโยชน์แท้ แก่มหาชน ในปี 2565 , ความก้าวหน้าในการเตรียมการจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนฯ โดยมี ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการ คณะกรรมการ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เข้าร่วมประชุมติดตามการเตรียมงานด้านต่าง ๆ ด้วย สำหรับการประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 6 ในปี พ.ศ. 2564 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน ถึง 4 พฤษภาคม 2564 ได้เลื่อนไปจัดพร้อมกับการประชุมวิชาการและนิทรรศการ อพ.สธ. : ประโยชน์แท้ แก่มหาชน ในปี 2565


ทั้งนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้บรรยายสรุปเพิ่มเติมต่อแนวคิดการพัฒนามหาวิทยาลัย อาทิ การให้ความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ทั้งการพัฒนาคุณภาพอาจารย์ผู้สอน ด้วยการนำระบบการจัดการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานสากล การปรับปรุงห้องเรียนเป็น Smart Classroom 100% การปรับปรุงห้องปฏิบัติการเป็น Digital LAB 100% การปรับปรุงการวัดผลประเมินผลการเรียน และการปรับปรุงมาตรการและกลไกเพื่อลดอัตราการออกกลางคัน (Dropout) ของนักศึกษา การให้ความสำคัญต่อการพัฒนา Physical Environment ควบคู่กับการปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนการสอน การจัดให้มีศูนย์กีฬาและนันทนาการ (Sport Complex) เป็นสถานที่ออกกำลังกายที่ทันสมัย รวมถึงการรับอาจารย์ใหม่และส่งเสริมให้มีการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการตามระยะเวลาที่กำหนด
โอกาสเดียวกันนี้คณะศึกษาดูงานได้เข้าเยี่ยมชม “อุทยานพฤกษศาสตร์” ซึ่งงาน อพ.สธ. ถือเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานพฤกษศาสตร์ และเยี่ยมชม “ตลาดพฤหัสหรรษา Bota Market : Chic and Chill” ที่มีการจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมาก เกิดเงินหมุนเวียนและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอย่างดีเยี่ยม
อาจารย์ ดร. ถนัด บุญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะได้นำไปปรับใช้เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ต่อไป
ข่าว : สุกัญญา แก้ววรรณ นักประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ที่มาข้อมูล : อาจารย์ ดร.ถนัด บุญชัย รองอธิการบดี
ขอขอบคุณภาพประกอบ : ส่วนสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และคณะผู้บริหาร มร.ชม.
เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และเป็นพลเมืองดี (5 ดี)