มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Chiang Mai Rajabhat University

นายกสภามหาวิทยาลัย เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนและผลการดำเนินงานของหลักสูตรดนตรีศึกษา

 

นายกสภามหาวิทยาลัย เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนและผลการดำเนินงานของหลักสูตรดนตรีศึกษา


 

เมื่อวันศุกร์ ที่ 8 กรกฎาคม 2565 ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนและผลการดำเนินงานของหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ ณ อาคารเอนกประสงค์ด้านภาษาและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์บูรณพันธุ์ ใจหล้า ประธานหลักสูตร กล่าวรายงานผลการดำเนินงานของหลักสูตร



สำหรับหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เปิดสอนในรายวิชาโทดนตรีศึกษา ก่อนที่จะเปิดรับนักศึกษาวิชาเอกดนตรีศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ปกศ.สูง) ในปี พ.ศ. 2522 และพัฒนาจนเปิดเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี จัดการเรียนการสอนในส่วนวิชาดนตรีทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ สร้างคน สร้างครูดนตรีทั่วภาคเหนือ โดยมีข้อมูลทางสถิติที่น่าสนใจ ได้แก่ จำนวนนักศึกษาสำเร็จการศึกษาคิดเป็น 85.36% เมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาที่รับเข้า ปัจจุบันมีนักศึกษาทั้งหมดทุกชั้นปี 298 คน โดยการสอบบรรจุรับข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วยที่ผ่านมา มีศิษย์เก่าสอบบรรจุได้และขึ้นบัญชีจำนวน 36 ราย เป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ ตลอดจนได้รับการโหวตจากนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วประเทศ ให้เป็นอันดับ 1 สาขาวิชาดนตรี/ดุริยางค์ ที่นักเรียนอยากเรียนมากที่สุด


โดยในปีการศึกษา 2565 หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา ได้ย้ายมาจัดการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม และมหาวิทยาลัยยังได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องดนตรีวงโยธวาทิต มูลค่า 2,317,000 บาท สำหรับการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา ที่สามารถผลิตครูดนตรีให้มีความรู้ มีสมรรถนะ มีความลุ่มลึกในศาสตร์ทางการศึกษาและศาสตร์ทางดนตรี ตลอดจนเข้าใจในบริบทการศึกษาทางดนตรีของประเทศไทยที่มีความแตกต่างหลากหลาย ดังอัตลักษณ์บัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ที่ว่า “บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน”

 

โอกาสนี้ นายกสภามหาวิทยาลัย และรักษาราชการแทนอธิการบดี ได้กล่าวให้โอวาทแก่นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา ตลอดจนรับชมการแสดงวงซิมโฟนิคแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ในโครงการ “ช้างเผือกสามัคคี” จำนวน 5 รายการแสดง ได้แก่ (1) เพลงมาร์ชราชวัลลภ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (2) ระบำกฤดาภินิหาร (3) Lazy Song ผลงานเพลงป๊อบของ Bruno Mars (4) Thunderer March และ (5) Washington Post March ผลงานของ John Philip Sousa

 


 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา 

ภาพ : วัชราวรรณ กันทา นักประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

 

ประมวลภาพถ่ายกิจกรรม >> Click

 

 

เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"

ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

        C Community  สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล

        M Moral   สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม

        R Royal  น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม

        U Unity   ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว

อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"

คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี

 

 

รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัย

Find CMRU APP at Play Store Find CMRU APP at Play Store
สงวนลิขสิทธิ์ 2558, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ดูแลระบบ; admin@cmru.ac.th

ติดต่อมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.ช้างเผือก ต.ช้างเผือก
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
โทรศัพท์: 08-1293-9749
อีเมล์ : saraban@cmru.ac.th