มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Chiang Mai Rajabhat University

คณะช้างเผือกสามัคคี มร.ชม. ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2566 “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม”

 


คณะช้างเผือกสามัคคี  มร.ชม. ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

การประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน 

ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 

พุทธศักราช 2566 “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม”  






มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ขอแสดงความยินดีกับ คณะช้างเผือกสามัคคี นักศึกษาหลักสูตรดนตรีศึกษาและนักศึกษานาฏศิลป์ คณะครุศาสตร์ ในโอกาสได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 พร้อมเงินรางวัล ในการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2566  “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม”  ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่  เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ซึ่งมีคณะนักแสดงเข้าลงทะเบียนเพื่อประกวดในรอบชิงชนะเลิศ จำนวน 10 คณะ โดยในพิธีเปิดนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด และได้รับเกียรติจากนายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ฯ 







    การประกวดครั้งนี้ คณะช้างเผือกสามัคคี มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ นำการแสดงซึ่งได้รูปแบบจากการศึกษากระบวนท่าฟ้อนเมืองของชาวล้านนา ท่านาฏศิลป์ไทย ผนวกการศึกษาพิธีบายศรีทูลพระขวัญและการศึกษาประเพณีการใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล นำมาเป็นแรงบันดาลใจ แนวคิด และสร้างสรรค์การแสดงในครั้งนี้ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวาระวันคล้ายวันพระราชสมภพ 68 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2566 พระองค์ทรงเป็นพระผู้ทรงคุณอันประเสริฐแก่วงการศิลปวัฒนธรรมไทย รัฐบาลจึงได้ กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย และแรงบันดาลใจมาจากประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล ขบวนแห่พระฝนแสนห่ามาผสมผสานเป็นองค์ประกอบ "บูรณศิลปั" คือ นำเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมล้านนา ทั้งดนตรี นาฎศิลป์ ตลอดจนขนบธรรมเนียมวิถีชีวิต นำมาสร้างสรรค์เป็นการแสดงชุด "น้ำพระหฤทัย แห่งพระบารมี ดั่งฝนทิพย์ชโลมชน" โดยมี ผศ.สงกรานต์ สมจันทร์ เป็นผู้ควบคุมและประพันธ์บทเพลง อาจารย์ว่าที่ร้อยตรีสรายุทธ อ่องแสงคุณ เป็นผู้ควบคุมการออกแบบและฝึกซ้อมการแสดงร่วมกับคณาจารย์จากหลักสูตรดนตรีศึกษา และหลักสูตรนาฏศิลป์ นอกจากนี้ยังมีศิษย์เก่าร่วมให้การสนับสนุนส่งเสริมประสบการณ์ความรู้ให้นักศึกษาจากทั้ง 2 หลักสูตรและได้เข้าร่วมประกวดภายใต้ชื่อ คณะช้างเผือกสามัคคี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน






รูปแบบการแสดงแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้ 

ช่วงที่ 1 น้อมศิระกาลถวายพระพร การแสดงสื่อถึง การถวายเครื่องบรรณาการ น้อมถวายแด่องค์สมเด็จพระ กนิษฐาธิราชเจ้าฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี 

ตลอดจนบายศรีนมแมว ตามทำเนียมพิธีบายศรีทูลพระขวัญ ซึ่งเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ กระทำขึ้นเพื่อความ สิริมงคลในวาระที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 68 พรรษา และการฟ้อนถวาย ซึ่งมักถือปฏิบัติกันอยู่เสมอทั้งในรูปแบบการแสดงนาฏศิลป์ล้านนา 

ตลอดจนขออาราธนาคุณแห่งพระฝนแสนห่าเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากโลก โปรดอภิบาลบันดาลดลให้ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงพระเจริญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญทุกทิพาราตรีทรงเป็นมิ่งขวัญปกเกล้าปกกระหม่อมปวงชนชาวไทยสืบไปชั่วกาลนาน











ช่วงที่ 2 อินทราประทาน การแสดงสื่อถึง การแสดงประกอบการดีดพิณเปี๊ยะ สอดเสียงทิพพยาน เล่าขาน ตำนานพระอินทร์ทรงประทานเสาอินทขีล ให้แก่ชาวเมือง เพื่อสื่อให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาเสาอินทขีล 








ช่วงที่ 3 บ้านชุ่มเมืองเย็น การแสดงสื่อถึง การแสดงตามแนวคติความเชื่อ ขบวนอัญเชิญเครื่องเครื่องสักการะ ประกอบขบวนแห่พระเจ้าฝนแสนห่า อันเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่บันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล โดยชาวบ้านได้ประกอบพิธีบูชาเสาอินทขีลหรือเสาหลักเมือง เชื่อว่าเป็นเสาหลักที่ สร้างความมั่นคง ให้อยู่ดีมีสุข สร้างความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยการบูชาด้วยการใส่ขันดอกหรือการถวายสวยดอก(กรวยดอกไม้ ตลอดจนการฟ้อนบูชาถวายพระเจ้าฝนแสนห่า และบูชา เสาอินทขีล ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง และฟ้อนแง้น ซึ่งชาวบ้านต่างเฉลิมฉลองอย่างมีความสุขสำราญหลังจากได้ทำบุญใหญ่ประจำเมือง 









 

เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"


ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่


        C Community  สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล


        M Moral   สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม


        R Royal  น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม


        U Unity   ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว


อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"


คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 


คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และเป็นพลเมืองดี (5 ดี)  



รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัย

Find CMRU APP at Play Store Find CMRU APP at Play Store
สงวนลิขสิทธิ์ 2558, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ดูแลระบบ; admin@cmru.ac.th

ติดต่อมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.ช้างเผือก ต.ช้างเผือก
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
โทรศัพท์: 053-412151-155
อีเมล์ : saraban@cmru.ac.th
 

ติดต่อเรา