คณะช้างเผือกสามัคคี มร.ชม. ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2566 “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม”
คณะช้างเผือกสามัคคี มร.ชม. ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
การประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน
ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
พุทธศักราช 2566 “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม”
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ขอแสดงความยินดีกับ คณะช้างเผือกสามัคคี นักศึกษาหลักสูตรดนตรีศึกษาและนักศึกษานาฏศิลป์ คณะครุศาสตร์ ในโอกาสได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 พร้อมเงินรางวัล ในการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2566 “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ซึ่งมีคณะนักแสดงเข้าลงทะเบียนเพื่อประกวดในรอบชิงชนะเลิศ จำนวน 10 คณะ โดยในพิธีเปิดนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด และได้รับเกียรติจากนายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ฯ
การประกวดครั้งนี้ คณะช้างเผือกสามัคคี มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ นำการแสดงซึ่งได้รูปแบบจากการศึกษากระบวนท่าฟ้อนเมืองของชาวล้านนา ท่านาฏศิลป์ไทย ผนวกการศึกษาพิธีบายศรีทูลพระขวัญและการศึกษาประเพณีการใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล นำมาเป็นแรงบันดาลใจ แนวคิด และสร้างสรรค์การแสดงในครั้งนี้ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวาระวันคล้ายวันพระราชสมภพ 68 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2566 พระองค์ทรงเป็นพระผู้ทรงคุณอันประเสริฐแก่วงการศิลปวัฒนธรรมไทย รัฐบาลจึงได้ กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย และแรงบันดาลใจมาจากประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล ขบวนแห่พระฝนแสนห่ามาผสมผสานเป็นองค์ประกอบ "บูรณศิลปั" คือ นำเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมล้านนา ทั้งดนตรี นาฎศิลป์ ตลอดจนขนบธรรมเนียมวิถีชีวิต นำมาสร้างสรรค์เป็นการแสดงชุด "น้ำพระหฤทัย แห่งพระบารมี ดั่งฝนทิพย์ชโลมชน" โดยมี ผศ.สงกรานต์ สมจันทร์ เป็นผู้ควบคุมและประพันธ์บทเพลง อาจารย์ว่าที่ร้อยตรีสรายุทธ อ่องแสงคุณ เป็นผู้ควบคุมการออกแบบและฝึกซ้อมการแสดงร่วมกับคณาจารย์จากหลักสูตรดนตรีศึกษา และหลักสูตรนาฏศิลป์ นอกจากนี้ยังมีศิษย์เก่าร่วมให้การสนับสนุนส่งเสริมประสบการณ์ความรู้ให้นักศึกษาจากทั้ง 2 หลักสูตรและได้เข้าร่วมประกวดภายใต้ชื่อ คณะช้างเผือกสามัคคี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน


รูปแบบการแสดงแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 น้อมศิระกาลถวายพระพร การแสดงสื่อถึง การถวายเครื่องบรรณาการ น้อมถวายแด่องค์สมเด็จพระ กนิษฐาธิราชเจ้าฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
ตลอดจนบายศรีนมแมว ตามทำเนียมพิธีบายศรีทูลพระขวัญ ซึ่งเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ กระทำขึ้นเพื่อความ สิริมงคลในวาระที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 68 พรรษา และการฟ้อนถวาย ซึ่งมักถือปฏิบัติกันอยู่เสมอทั้งในรูปแบบการแสดงนาฏศิลป์ล้านนา
ตลอดจนขออาราธนาคุณแห่งพระฝนแสนห่าเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากโลก โปรดอภิบาลบันดาลดลให้ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงพระเจริญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญทุกทิพาราตรีทรงเป็นมิ่งขวัญปกเกล้าปกกระหม่อมปวงชนชาวไทยสืบไปชั่วกาลนาน
ช่วงที่ 2 อินทราประทาน การแสดงสื่อถึง การแสดงประกอบการดีดพิณเปี๊ยะ สอดเสียงทิพพยาน เล่าขาน ตำนานพระอินทร์ทรงประทานเสาอินทขีล ให้แก่ชาวเมือง เพื่อสื่อให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาเสาอินทขีล
ช่วงที่ 3 บ้านชุ่มเมืองเย็น การแสดงสื่อถึง การแสดงตามแนวคติความเชื่อ ขบวนอัญเชิญเครื่องเครื่องสักการะ ประกอบขบวนแห่พระเจ้าฝนแสนห่า อันเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่บันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล โดยชาวบ้านได้ประกอบพิธีบูชาเสาอินทขีลหรือเสาหลักเมือง เชื่อว่าเป็นเสาหลักที่ สร้างความมั่นคง ให้อยู่ดีมีสุข สร้างความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยการบูชาด้วยการใส่ขันดอกหรือการถวายสวยดอก(กรวยดอกไม้ ตลอดจนการฟ้อนบูชาถวายพระเจ้าฝนแสนห่า และบูชา เสาอินทขีล ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง และฟ้อนแง้น ซึ่งชาวบ้านต่างเฉลิมฉลองอย่างมีความสุขสำราญหลังจากได้ทำบุญใหญ่ประจำเมือง

เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และเป็นพลเมืองดี (5 ดี)