มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กำหนดจัดงานพิธีเชิดชูเกียรติเพชรราชภัฏ - เพชรล้านนา ประจำปีพุทธศักราช 2566 ยกย่องผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กำหนดจัดงานพิธีเชิดชูเกียรติเพชรราชภัฏ - เพชรล้านนา
ประจำปีพุทธศักราช 2566 ยกย่องผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม
ผศ.พรพิมล วงศ์สุข รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะประธานกรรมการโครงการเพชรราชภัฏ – เพชรล้านนา เปิดเผยว่า ตามที่ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้คัดสรรบุคลากรผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น เพชรราชภัฎ – เพชรล้านนา โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมสนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้านให้มีขวัญกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานและร่วมสืบสานองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสืบสานองค์ความรู้ให้คงอยู่คู่สังคมล้านนานั้น บัดนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้กำหนดจัดพิธีเชิดชูเกียรติเพชรราชภัฏ – เพชรล้านนา ประจำปีพุทธศักราช 2566 ในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุม ชั้น 15 อาคาร 90 ปี ราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัย ราชภัฏเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ภายในงาน จัดให้มี การแสดงศิลปวัฒนธรรม โดย เพชรราชภัฏ – เพชรล้านนา ประจำปี 2566 และบุคลากรผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ประจำปี 2566 อาทิ การแสดงชุด “แว่วสำเนียงสื่อเสียงล้านนา ลือค่าเวียงลับลี้” โดย นายสัณหณัฐ สุติยะ บุคลากรผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ประจำปี 2566 การแสดงชุด “ฟ้อนเจิง – ฟ้อนดาบ” โดย นายศรัณ สุวรรณโชติ เพชรราชภัฏ – เพชรล้านนา ประจำปี 2566การแสดงชุด “เซิ้งบั้งไฟช้างเผือกสามัคคี” โดย ว่าที่ ร้อยตรี สรายุทธ อ่องแสงคุณ เพชรราชภัฏ – เพชรล้านนา ประจำปี2566 และพิธีมอบรางวัลเพชรราชภัฏ – เพชรล้านนา ประจำปีพุทธศักราช 2566 รางวัลบุคลากร ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ประจำปี 2566 พิธีมอบประกาศเกียรติคุณ “ผู้สร้างผลงานการสร้างสรรค์ที่แสดงออกด้านศิลปวัฒนธรรมและความเป็นไทย ประจำปีการศึกษา 2565
ทางด้าน อ.ดร. ธรรศ ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า ในปี พุทธศักราช 2566 มีผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็น เพชรราชภัฏ – เพชรล้านนาดังนี้
สาขาศิลปะ ด้านหัตถศิลป์ (การตีเหล็ก) ได้แก่ นายนาค ปัญญาดา
สาขาศิลปะ ด้านการแสดง (นาฏศิลป์) ได้แก่ อาจารย์ ว่าที่ร้อยตรีสรายุทธ อ่องแสงคุณ
สาขาศิลปะ ด้านการแสดง (เจิง) ได้แก่ นายศรัณ สุวรรณโชติ
สาขามนุษยศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ฐาปกรณ์ เครือระยา
บุคลากรผู้มีผลงานทางวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช 2566 สาขาศิลปะ ด้านการแสดง (ดนตรี – นาฏศิลป์) ได้แก่ นายสัณหณัฐ สุติยะ
ซึ่งผู้ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลคือผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ทั้งความโดดเด่นของผลงาน กระบวนการเรียนรู้ กระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ มีผลงานดีเด่น จนเป็นที่ยอมรับในสังคม ทั้งยังได้สร้างสรรค์และพัฒนาผลงานมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับรางวัล จึงขอเชิญชวน ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และประชาชนร่วมแสดงความยินดีพร้อมทั้งร่วมชมการแสดงศิลปะและวัฒนธรรม ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เริ่มลงทะเบียนเวลา 13.30 น. และเริ่มพิธีเปิดงานในเวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 15 อาคาร 90 ปี ราชภัฏเชียงใหม่ โดยแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง
ภาพ - ข้อมูล : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ข่าว : นางสาวพัชริดา เขียวขุนเนิน นักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ
ศูนย์สื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม >> Click
เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และเป็นพลเมืองดี (5 ดี)