นายเกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2563-2564
12 ธ.ค. 2566
โดย สุกัญญา แก้ววรรณ
Tweet
นายเกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในงานพิธีประราชทานปริญญาบัตร
แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2563 - 2564

12 ธันวาคม 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายเกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในงานพิธีปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคเหนือ ประจำปีการศึกษา 2563-2564 ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวันแรก



โดยในปีนี้ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้มีมติให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 ราย ได้แก่
นายสุรสิทธิ์ ตรีทอง นักรัฐศาสตร์การปกครองท้องถิ่นที่อุทิศตนอย่างดีเยี่ยม ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนในการปฏิบัติงานและผลักดัน ให้ส่วนราชการและหน่วยงานในจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง อันนำไปสู่การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การกีฬา และการศึกษา อีกทั้งเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน เพื่อการขยายการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้แก่ประชาชนได้รับการศึกษาที่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ เข้ารับ ปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

นายปัญญา จีนาคำ ผู้มีเกียรติประวัติดีเด่น ในฐานะที่เป็นแบบอย่างที่ดี ในการ “พัฒนาชุมชน” เป็นผู้บำเพ็ญตนด้วยการริเริ่มและได้อุทิศตนให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างกว้างขวาง เป็นผู้นำคนสำคัญในการจัดหาที่ดินในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ใช้จัดการศึกษา และจัดตั้งวิทยาเขตแม่ฮ่องสอน รวมทั้งยังให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพแก่คนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้ารับ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน

นายอัญเชิญ โกฏแก้ว พ่อครูที่ประสบความสำเร็จยอดเยี่ยมในด้านการออกแบบงานศิลปะเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ประติมากรรมและสถาปัตยกรรม ซึ่งได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลาย โดยได้ออกแบบสร้างสรรค์ผลงาน ประติมากรรมทางพระพุทธศาสนา งานประติมากรรมปั้นอนุสาวรีย์ ปั้นช้าง งานออกแบบสร้างเจดีย์ ซุ้มประตูโขง และที่สำคัญกำลังดำเนินการสร้าง “อุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ณ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ งานศิลปะ วัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์และเป็นมรดกให้กับประเทศชาติ เข้ารับ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ

นายสุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน การออกแบบเพื่อการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ชุมชนและการท่องเที่ยวชุมชน เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลออสการ์อาหารโลกจากการสร้างสรรค์เมนูอาหาร ประเทศฝรั่งเศส แลเป็นผู้พัฒนาตำราอาหารของมูลนิธิโครงการหลวงจนได้รับรางวัลระดับโลก อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้นำแนวทางการทำงานเกี่ยวกับการออกแบบ “จาก Local สู่เลอค่า” มาปรับใช้ เพื่อมุ่งขจัดปัญหาความยากจน และมีความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้สหกวิทยาการแขนงต่าง ๆ มาร่วมขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เข้ารับ ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์

นายพรชัย จุฑามาศ ผู้ที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ ด้านวิทยาธรรมชาติและการอนุรักษ์ทรัพยากร เป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่นด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และเป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการทำงานสนองพระราชดำริเพื่อก่อตั้ง โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) รวมทั้งเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนงาน อพ.สธ. ให้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จนได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่จัดตั้ง ศูนย์ประสานงาน โครงการ อพ.สธ. เพื่อใช้งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น อพ.สธ. เป็นแนวทางในการพัฒนาท้องถิ่น เข้ารับ ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาชีววิทยา

นางสุนทรี ดอนท้าวไพร ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารและการจัดการธุรกิจประเภทโรงแรม รวมถึงการก่อสร้างอาคารในรูปแบบต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาทางด้านศิลปะล้านนา ที่ก่อให้เกิดงานด้านสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีกลิ่นอายของล้านนาผสมกับความทันสมัยของยุโรป รวมทั้งเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในการบริหารและการจัดการธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรม โดยเน้นการให้บริการลูกค้าเสมือนเป็นคนในครอบครัวดุจญาติมิตร คนสนิทที่สำคัญ เพื่อให้ลูกค้ามีความรู้สึกอบอุ่น มีความปลอดภัย เข้ารับ ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารธุรกิจ

โอกาสนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 1,501 คน ระดับปริญญาโท จำนวน 13 คน ระดับปริญญาเอก จำนวน 3 คน เข้ารับปริญญาบัตร รวมทั้งสิ้น 1,516 คน



มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้บูรณาการองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่การพัฒนาท้องถิ่น อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีอวกาศภูมิสารสนเทศและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีแห่งเอเชีย (AiroTEC) ได้นำองค์ความรู้งานวิจัยเกี่ยวกับคุณภาพอากาศไปเผยแพร่และนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นท้องถิ่นฟอกอากาศ และห้องเรียนเป็นห้องปลอดฝุ่น ซึ่งนักวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชยานนท์ สวัสดีนฤนาท ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมการวิจัย จากงานราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 7 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริตามพระราโชบาย อาทิ การจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 7 ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โดยจัดนิทรรศการและนำเสนองานของโรงเรียนสมาชิกฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ ที่สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในท้องถิ่น




ประมวลภาพพิธีพระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ >> Click
ข่าว : สุกัญญา แก้ววรรณ หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ภาพ : วัชระ ไทยบัณฑิตย์ นักประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ / อาจารย์ธนโชค จันทร์สูง อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และเป็นพลเมืองดี (5 ดี)