มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Chiang Mai Rajabhat University

กระทรวง อว. ขยายผลเทคโนโลยีพร้อมใช้เพื่อชุมชนไทยยั่งยืนสู่ภาคเหนือ โชว์ผลงานนวัตกรรมภูมิปัญญาไทยตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่

 


            กระทรวง อว. ขยายผลเทคโนโลยีพร้อมใช้เพื่อชุมชนไทยยั่งยืนสู่ภาคเหนือ โชว์ผลงานนวัตกรรมภูมิปัญญาไทยตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่

            21 พฤษภาคม 2567 นายวีรพงศ์  ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน Appropriate Technology MATCHING DAY 2024 “เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ประจำปี 2567” ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี  มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และดร.กิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวรายงานและให้การต้อนรับ

            ทั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้จัดงาน Appropriate Technology MATCHING DAY 2024 “เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ประจำปี 2567” ในพื้นที่ภาคเหนือ ต่อเนื่องจากภาคใต้และภาคอีสาน ระดมผลงานวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  จัดแสดงเทคโนโลยีพร้อมใช้กว่า 2,316 ผลงาน จากภูมิปัญญานักวิจัยไทย ตั้งเป้าขยายผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก แก้หนี้ครัวเรือน จับคู่แก้โจทย์ปัญหาตอบสนอง ความต้องการชุมชนตามบริบทพื้นที่

            งาน “เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ประจำปี 2567” โซนพื้นที่ภาคเหนือ มีกลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพ รวมถึงผู้ประกอบการในพื้นที่เข้าร่วมงานกว่า 249 กลุ่ม ภายในงานมีการนำเทคโนโลยีพร้อมใช้จำนวน 100 ผลงาน ที่จะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย จากภูมิปัญญาการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาของนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาของเครือข่าย มรภ. และเครือข่าย มทร. ประกอบด้วย เทคโนโลยีในส่วนการผลิต (ต้นน้ำ) ส่วนการแปรรูปหรือยกระดับการเพิ่มมูลค่าผลผลิต (กลางน้ำ) และเทคโนโลยีด้านการตลาด/โลจิสติกส์ (ปลายน้ำ) อาทิ เครื่องกรีดเนื้อมะขามสุก ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาในการผลิตมะขามไร้เมล็ดของผู้ประกอบการ ในเขตพื้นที่ปลูกมะขาม จังหวัดเพชรบูรณ์ เลย อุตรดิตถ์ นวัตกรรมเครื่องเพิ่มความชื้นในโรงเรือนผลิตเห็ด ควบคุมความชื้น และลดอุณหภูมิในโรงเรือนให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ดนางฟ้า ทำให้ผลิตเห็ดได้ตลอดทั้งปี ได้ผลผลิตสูงกว่าการผลิตในโรงเรือนแบบดั้งเดิม ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์

            นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีการแปรรูปสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยนำองค์ความรู้/เทคโนโลยีการแปรรูปสินค้าเกษตรแบบผสมผสานทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ในการแปรรูปที่หาได้ง่ายในครัวเรือน ด้วยเทคนิคต่างๆ จนได้ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง/พร้อมบริโภคที่มีคุณภาพดีเยี่ยม มีสีกลิ่นและรสธรรมชาติของอาหารนั้น อาทิ ผลิตภัณฑ์ข้าวเหนียวทุเรียนกล่องร้อน เทคโนโลยีการผลิตมะนาวอบแห้งแบบฟรีซดราย เทคโนโลยีการแปรรูปเครื่องดื่มผัก - ผลไม้และสมุนไพรพาสเจอร์ไรซ์ ฯลฯ ซึ่งมีใช้งานในชุมชน ผู้ประกอบการ จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย ชุดนวัตกรรมผลิตถ่านอัดแท่งจากวัสดุเหลือทิ้งในกระบวนการแปรรูปไม้ไผ่ จากวัสดุเหลือทิ้งในกระบวนการแปรรูปไม้ไผ่ นำมาสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรมแทนการเผา สร้างอาชีพและรายได้แก่ครัวเรือนยากจน อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ในการผลิตถ่านจากเตาเผาถ่านไร้ควัน เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปไม้ไผ่และถ่านอัดแท่ง สร้างงานและเกิดการจ้างแรงงานในพื้นที่นวัตกรรมกระถางต้นไม้จากขยะโฟม นำมารีไซเคิลด้วยกระบวนการแปรรูป ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติป้องกันการซึมของน้ำได้ดี ประยุกต์การใช้งานจากขยะโฟมช่วยแก้การเกิดมลพิษ ในชุมชนโหล่งฮิมคาว ม้ง ลอจ์ด รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลเกาะหมาก จังหวัดตราด  เทศบาลนครสงขลา

            สำหรับเป้าหมายของการจัดงาน Appropriate Technology MATCHING DAY 2024 คือ การขยายผลการทำงานและสนับสนุนการวิจัยในการยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาอาชีพในการเรียนรู้ รับ ปรับใช้ องค์ความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงและจัดการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริง และตรงตามความต้องการ เพื่อคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการจัดการแก้ปัญหาคนจนและความเหลื่อมล้ำ การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากทั้งภาคชนบทและเมืองให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน บพท. โดยความร่วมมือกับเครือข่าย มทร. 9 แห่งและเครือข่าย มรภ. 38 แห่ง มีเป้าหมายเพื่อขยายผลต่อยอดนวัตกรรมพร้อมใช้/เทคโนโลยีที่เหมาะสมจากงานวิจัย สู่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ คนจนฐานราก เกษตรกรรายย่อย กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนได้รับชมและนำไปต่อยอดขยายผลการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง

            ด้าน ดร.กิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวง อว. โดย น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวง อว. มอบนโยบายให้หน่วย บพท. เป็นหน่วยงานหลัก “ขยายผลวิจัยเทคโนโลยีพร้อมใช้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้หนี้ครัวเรือน” โดยร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) นำเทคโนโลยีพร้อมใช้จากทั้ง 2 สถาบัน จำนวน 2,316 ผลงาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่ผ่านการพิสูจน์ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการใช้งานจริงมาแล้ว มาจัดแสดง เพื่อให้ประชาชน ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองท้องถิ่น ตลอดจนวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ได้พิจารณานำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ ตามบริบทพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเสริมรายได้ สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างความอยู่ดีกินดีมีความสุข

            ที่ผ่านมาการจัดงาน “เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน” ประจำปี 2567 จัดขึ้นครั้งแรกในโซนภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่  2 โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ 3  โซนภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และครั้งที่ 4 โซนภาคกลาง กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพมหานคร

ข่าว : สุกัญญา  แก้ววรรณ หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ภาพ : วัชระ ไทยบัณฑิตย์ นักประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ประมวลภาพถ่ายกิจกรรม >> Click











เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"

ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

        C Community  สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล

        M Moral   สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม

        R Royal  น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม

        U Unity   ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว

อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"

คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และเป็นพลเมืองดี (5 ดี)

รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัย

Find CMRU APP at Play Store Find CMRU APP at Play Store
สงวนลิขสิทธิ์ 2558, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ดูแลระบบ; admin@cmru.ac.th

ติดต่อมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.ช้างเผือก ต.ช้างเผือก
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
โทรศัพท์: 053-412151-155
อีเมล์ : saraban@cmru.ac.th
 

ติดต่อเรา