มร.ชม. ร่วมนำเสนอผลงานวิจัย มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) ครั้งที่ 19
มร.ชม. ร่วมนำเสนอผลงานวิจัย
มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567
(Thailand Research Expo 2024) ครั้งที่ 19
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา นำนักวิจัยร่วมนำเสนอผลงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)” ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้แนวคิดหลัก“สานพลังวิจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ทั้งนี้เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และเป็นเวทีระดับชาติ ในการนำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ เผยแพร่องค์ความรู้ กระจายโอกาสการเข้าถึงฐานข้อมูลความรู้การวิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งเป็นการหนุนเสริมให้เกิดกลไกสนับสนุนและพัฒนาการวิจัย ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ เชื่อมโยงผู้ผลิตงานวิจัยและผู้ใช้ประโยชน์ โดยการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรและเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ
โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการ (BL13) ในธีมงาน "วิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างพลังสร้างสรรค์
Soft Power ของประเทศ" และร่วมประกวดผลงาน (Thailand
Research Expo 2024 Award ) ภาคนิทรรศการ
จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่
1) โครงการฟื้นวิถีเมิงไต : การรื้อฟื้นและจัดการทุนวัฒนธรรมไทใหญ่ เมืองแม่ฮ่องสอน โดย อาจารย์ ดร.ธรรศ ศรีรัตนบัลย์ สังกัดสำนักศิลปะและวัฒนธรรม/คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ หรือ ชาวไตแม่ฮ่องสอน ผ่านพื้นที่พระธาตุดอยกองมู โดยมุ่งเน้นการฟื้นฟูและสร้างสรรค์ กิจกรรมภายใต้เทศกาลสำคัญ 2 เทศกาล เชื่อมโยงกับการศึกษาและนำเสนอประวัติศาสตร์ของพระธาตุดอยกองมูและเมืองแม่ฮ่องสอน รวมถึงผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับคุณค่าทางสังคม เศรษฐกิจ และพัฒนาสู่การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและ 2) โครงการการพัฒนาสื่อการเรียนรู้พื้นฐานนาฏศิลป์ไทยสำหรับผู้พิการทางสายตา โดย อาจารย์ ดร.ศริยา หงษ์ยี่สิบเอ็ด สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ออกแบบและพัฒนาสื่อการเรียนรู้พื้นฐานทางนาฏศิลป์ไทยสำหรับผู้เรียนที่มีความพิการทางสายตาขึ้น โดยจัดทำสื่อที่ผสมผสานระหว่างสื่อภาพนูนจากพินอาร์ต สื่อสามมิติ และหนังสือเสียงทดแทนการเรียนรู้แบบปกติของผู้เรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ศิลปะผ่านสหผัสสะหรือการเรียนรู้นาฏศิลป์ไทยด้วยประสาทสัมผัสที่หลากหลาย ตลอดจนเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้แก่ผู้พิการทางสายตาได้เกิดจินตภาพ รับรู้ เข้าใจ และฝึกปฏิบัติพื้นฐานนาฏศิลป์ไทยจากสื่อการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และยังได้เข้านำเสนอผลงาน ทั้ง 2 ผลงาน ในภาคการประชุม โดยมี อาจารย์ ดร.อัครสิทธิ์ บุญส่งแท้ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมด้วย ผศ.ดร.ชยานนท์ สวัสดีนฤนาท รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นผู้ดำเนินการประชุมและอภิปรายผลการประชุมได้รับความสนใจจากนักวิจัยและผู้สนใจร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นจำนวนมาก
ภาพ - ข้อมูล :
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เรียบเรียงข่าว :
นางสาวพัชริดา เขียวขุนเนิน นักประชาสัมพันธ์ งานประชาสัมพันธ์
กองกลาง
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ศูนย์สื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ติดตามประมวลภาพกิจกรรม >> Click
เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี