องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏในเขตภาคเหนือ ประจำปีการศึกษา 2565 เป็นวันที่สาม
18 ต.ค. 2567
โดย สุกัญญา แก้ววรรณ
Tweet
องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏในเขตภาคเหนือ ประจำปีการศึกษา 2565 เป็นวันที่สาม

18 ตุลาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางและมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ประจำปีการศึกษา 2565 ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ารับปริญญากิตติมศักดิ์ ดังนี้



รองศาสตราจารย์สนม ครุฑเมือง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทยที่ได้สร้างสรรค์ผลงานกว่า 70 รายการ ครอบคลุมศาสตร์สาขาต่าง ๆ อาทิ ศาสตร์สาขาวิชาภาษาไทย วัฒนธรรมศึกษา และการบริหารการศึกษา ผลงานที่โดดเด่น ได้แก่ พจนานุกรมไทย-ไตยอง และไตยอง-ไทย และสารานุกรมวิถีชีวิตวัฒนธรรมไตยอง เป็นกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ทรงคุณวุฒิประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ร่วมริเริ่มโครงการการเปิดสอนหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ซึ่งมีการผลิตดุษฎีบัณฑิตทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง สภามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางจึงเห็นสมควรให้ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย
นายแสงชัย เอกพัฒนพาณิชย์ นักธุรกิจที่ประกอบธุรกิจด้วยความวิริยะอุตสาหะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ บริษัทตัน แอนด์ ซันส์ จำกัด ประธานกรรมการบริษัทเทพารักษ์หม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด อดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นผู้บริหารภาคธุรกิจเอกชนระดับชาติ ใช้ประสบการณ์ในการบริหารร่วมกำหนดและวางแผนการจัดทำหลักสูตรด้านการบริหารธุรกิจ อุตสาหกรรม เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางจึงเห็นสมควรให้ได้รับปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาบริหารธุรกิจ
และมีผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับปริญญาบัตร หลักสูตรปริญญาตรี จำนวน 280 คน หลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก จำนวน 9 คน



มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มุ่งมั่นดำเนินงานอย่างต่อเนื่องสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน และพื้นที่อื่น ๆ ดำเนินโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ในพื้นที่ 229 หมู่บ้าน และ 47 โรงเรียนขนาดเล็ก ด้านการผลิตและพัฒนาครู ได้ดำเนินการตามรูปแบบการผลิตบัณฑิตและพัฒนาครูฐานสมรรถนะ PTRU Model การผลิตครูนวัตกร การพัฒนานักศึกษาด้าน Soft Skills ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม ผลิตบัณฑิตให้พร้อมด้วยคุณลักษณะ 4 ประการ นำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาในชุมชน อาทิ โครงการการสร้างกลไกความร่วมมือแบบบูรณาการ ขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกที่มีการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อยู่ในลำดับต้น ๆ ของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ



สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ารับปริญญากิตติมศักดิ์ ได้แก่
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในหลายกระทรวง ในขณะที่ดำรงตำแหน่งได้มีส่วนในการผลักดันกิจการด้านต่าง ๆ มากมาย ได้ดำเนินการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของประชาชน อาทิ โครงการโคแสนล้าน อีกทั้งได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยได้จัดมหกรรมไกล่เกลี่ย
หนี้สินครัวเรือน ช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินภาคประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สิน การฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาอาชีพของผู้ต้องขัง สภามหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามจึงเห็นสมควรให้ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน

นายปัญญา นิรันดร์กุล ผู้ประสบความสำเร็จในวงการโทรทัศน์ ในด้านนักแสดงและด้านพิธีกร เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิเวิร์คพอยท์เพื่อการกุศล ที่ส่งเสริมสังคมให้ความรู้ ความบันเทิง สร้างแรงบันดาลใจ เป็นสื่อกลางในการบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ผ่านรายการข่าวเวิร์คพอยท์ สร้างสรรค์รายการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนหรือประสบความลำบากในการดำรงชีวิต ปรากฏผลงานทั้งด้านการสื่อสาร การบริหารองค์กร การสงเคราะห์สังคม ตลอดจนเป็นตัวอย่างของการบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ ศาสนา เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป สภามหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามจึงเห็นสมควรให้ได้รับปริญญาสังคมสงเคราะห์ศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

นายธีรชาติ ภัทรภิญโญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทภัทรธารากรุ๊ป (2018) นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จในการบริหารกิจการหลายประเภทในจังหวัดพิษณุโลก อาทิ ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและไม้แปรรูป สถานีบริการน้ำมัน โครงการบ้านจัดสรรและอาคารพาณิชย์ โรงแรมและรีสอร์ท ธุรกิจร้านกาแฟ รวมถึงร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบออร์แกนิค ดำเนินธุรกิจด้วยใจรักและอุทิศตนจนเกิดประโยชน์ต่อสังคม สภามหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงครามจึงเห็นสมควรให้ได้รับปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ

และ นายธรรมสถิตย์ บูรณเขตต์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ทายาทผู้สืบทอดงานพุทธศิลป์ด้านการปั้น – หล่อพระพุทธชินราชบูชาจากบิดา ได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการสร้างพระตั้งแต่วัยเยาว์ พัฒนางานอย่างสร้างสรรค์ลึกซึ้ง ในทุกขั้นตอนได้อย่างแม่นยำตามหลักพุทธศิลป์ไทย เป็นผู้คิดค้นและพัฒนารูปแบบการสร้างพระพุทธชินราชบูชา ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามพุทธลักษณ์ พัฒนารูปแบบการฉลุ ใบระกา หรือ ซุ้มเรือนแก้ว ให้มีความคมชัดทำให้ซุ้มเรือนแก้วมีความงดงามทุกองค์ประกอบ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามจึงเห็นสมควรให้ได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะและนวัตกรรมการออกแบบสร้างสรรค์

ทั้งนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับปริญญาบัตร หลักสูตรปริญญาตรี จำนวน 515 คน หลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก จำนวน 20 คน
มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้กับคนทุกช่วงวัย ที่เน้นการสร้างบัณฑิตให้เป็นนักปฏิบัติ เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความรับผิดชอบ สามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่สังคม สร้างนวัตกรรมบนพื้นฐานความเข้มแข็งทางวิชาการ และปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการใหม่ ที่พร้อมแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ อีกทั้งได้ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม






ประมวลภาพ >> พิธีพระราชทานปริญญาบัตรฯ บัณฑิต ม.ราชภัฏลำปาง และม.ราชภัฏพิบูลสงคราม
ประมวลภาพ >> แสดงความยินดีกับบัณฑิต ม.ราชภัฏลำปาง และม.ราชภัฏพิบูลสงคราม อัลบัม 1
ประมวลภาพ >> แสดงความยินดีกับบัณฑิต ม.ราชภัฏลำปาง และม.ราชภัฏพิบูลสงคราม อัลบัม 2
ข่าว : สุกัญญา แก้ววรรณ หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ , นางสาวเสาวลักษณ์ สามแก้ว และนางพัชริดา ชื่นมาโนช งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ภาพ : นายวัชระ ไทยบัณฑิตย์ นักประชาสัมพันธ์ งานประขาสัมพันธ์ กองกลาง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และอาจารย์ธนโชค จันทร์สูง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
ภาพ : นายวัชระ ไทยบัณฑิตย์ นักประชาสัมพันธ์ งานประขาสัมพันธ์ กองกลาง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และอาจารย์ธนโชค จันทร์สูง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และเป็นพลเมืองดี (5 ดี)
เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และเป็นพลเมืองดี (5 ดี)