มร.ชม. เชื่อมสัมพันธ์ ไทย – เกาหลี นำ 3 ชุด การแสดงไทย ร่วมแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรม ณ สาธารณรัฐเกาหลี
มร.ชม.
เชื่อมสัมพันธ์ ไทย – เกาหลี
นำ 3 ชุด การแสดงไทย ร่วมแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรม ณ สาธารณรัฐเกาหลี
รองศาสตราจารย์ ดร.สัญญา สะสอง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอบหมายให้ อาจารย์ ดร.เสกสรร ท้าวทุมมา รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พร้อมด้วยหลักสูตรศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง เชียงใหม่ มูลนิธิเชียงใหม่คนละไม้คนละมือ มูลนิธิพระคุณนิรันดร์ และมูลนิธิอออูริมจากสาธารณรัฐเกาหลี เข้าร่วมแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม ณ สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรม และเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 1 – 8 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ สาธารณรัฐเกาหลี
อาจารย์ ดร.ไกรลาส จิตร์กุล ประธานหลักสูตรศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดเผยว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้นำชุดการแสดงร่วมแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรม ณ สาธารณรัฐเกาหลี 3 ชุดการแสดง ได้แก่ การแสดงเบิกโรง ชุด ระบำกฤดาภินิหาร เป็นการแสดงลีลาร่ายรำของเทวดานางฟ้าตามบทร้อง โดยสื่อความหมายถึงการแสดงความยินดี ชื่นชมโสมมนัส และอำนวยพรให้แก่ผู้ชมที่มาร่วมงาน ในครั้งนี้ได้มีความสุข แสดงโดย อาจารย์ ดร.ตรีธวัฒน์ มีสมศักดิ์ และอาจารย์ภิตินันท์ อะภัย ชุดที่ 2 การแสดงโขน ชุด หนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา โดยการแสดงโขน เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งการแสดงโขน ชุด “หนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา” นั้นเป็นการแสดงที่ตัดตอนมาจากการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน จองถนน เนื้อเรื่องกล่าวถึง เมื่อพระรามต้องการสร้างถนนเพื่อเดินทางไปยังเกาะลงกาจึงได้ ทรงมอบหมายให้สุครีพและหนุมานนำกองทัพวานรขนก้อนหินมาถมทะเล แต่ถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็มเพราะนางสุพรรณมัจฉา (ธิดาของทศกัณฐ์) นำฝูงปลาขนหินออกไปทิ้ง สุครีพจึงสั่งให้หนุมานดำลงไปจับนางสุพรรณมัจฉา เรื่องราวของการแสดงนี้นำเสนอในรูปแบบของ “โขนโรงนอก” (การแสดงโขนโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อประมาณ 300 ปีก่อน) โดยใช้ผู้ชายแสดงล้วน แสดงโดย อาจารย์ ดร.ไกรลาส จิตร์กุล รับบท หนุมาน และ อาจารย์ ดร.วิรสันติ์ วิรุฬห์สกุลภิบาล รับบท นางสุพรรณมัจฉา ชุดที่ 3 การแสดงพื้นบ้าน 4 ภาค การแสดงชุดนี้เป็นการนำเสนอศิลปะการแสดงพื้นบ้านของประเทศไทย ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค โดยแบ่งออกเป็น 4 ภาค ได้แก่ การแสดงฟ้อนของภาคเหนือ การแสดงกลองยาวของภาคกลาง การแสดงเซิ้งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการแสดงตาลีกีปัสของภาคใต้ โดยทั้ง 4 ชุดการแสดงจะเน้นลีลาการรำที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนไทยในแต่ละภูมิภาค แสดงโดย นางสาวภูรินทร์ฐิตา นาคสาร และ นางสาวอารียา ทาวัน นักศึกษาหลักสูตรศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมด้วย นางสาวศุรัตนา ยานะ, นางสาวพรพรรณ เชื้อบุญ นักเรียนโรงเรียนเทพบดินทร์ (โรงเรียนเครือข่าย) และ นายณัฐวุฒิ กามอ้อย ศิลปินเครือข่ายของหลักสูตรศิลปะการแสดง ซึ่งนับเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี โดยจะมีการขยายความสัมพันธ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไปอีกในอนาคต
เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"
ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
C Community สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล
M Moral สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม
R Royal น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม
U Unity ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว
อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และเป็นพลเมืองดี (5 ดี)