มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Chiang Mai Rajabhat University

ผู้บริหาร - นักวิจัย มร.ชม. ร่วมกับชุมชนผาบ่อง และภาคีเครือข่ายดำเนินโครงการวิจัย “ปอยหมั่งกะป่า : การฟื้นคุณค่าประเพณีเขาวงกต จากวิถีชุมชนไทใหญ่บ้านผาบ่อง สู่เทศกาลวัฒนธรรมของจังหวัดแม่ฮ่องสอน”

 

ผู้บริหาร - นักวิจัย มร.ชม. ร่วมกับชุมชนผาบ่อง และภาคีเครือข่ายดำเนินโครงการวิจัย

“ปอยหมั่งกะป่า : การฟื้นคุณค่าประเพณีเขาวงกต จากวิถีชุมชนไทใหญ่บ้านผาบ่อง สู่เทศกาลวัฒนธรรมของจังหวัดแม่ฮ่องสอน”







 รศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มอบหมายให้ คณะผู้วิจัยฯ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับชุมชนผาบ่อง และภาคีเครือข่าย ดำเนินโครงการวิจัย “ปอยหมั่งกะป่า : การฟื้นคุณค่าประเพณีเขาวงกต จากวิถีชุมชนไทใหญ่บ้านผาบ่องสู่เทศกาลวัฒนธรรมของจังหวัดแม่ฮ่องสอน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (ววน.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กรอบการวิจัย “การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ” ภายใต้วิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ 2567 ณ วัดผาบ่องเหนือ ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน 2567








ทั้งนี้ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ชุมชนผาบ่องและความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีเขาวงกตหรือปอยหมั่งกะป่าของชาวไทใหญ่ สร้างการรับรู้ฟื้นฟูคุณค่า และพัฒนาประเพณีเขาวงกตหรือปอยหมั่งกะป่าของชาวไทใหญ่สู่เทศกาลวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายภายในท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนากระบวนการส่งเสริมคุณค่าและมูลค่าของศิลปะวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ได้รับเกียรติจาก นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานในพิธี  นายอมร ศรีตระกูล กำนันตำบลผาบ่องกล่าวต้อนรับ อาจารย์พุทธชาติ ยมกิจ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น กล่าวรายงาน อาจารย์อิศรา กันแตง ผู้ทรงคุณวุฒิจาก “ธัชภูมิ” วิทยสถานเพื่อการพัฒนาพื้นที่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวความเป็นมาและเป้าหมายของการดำเนินโครงการฯ และ อาจารย์ ดร. ธรรศ ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นำเสนอข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเพณี










สำหรับประวัติความเป็นมาของประเพณีปอยหมั่งกะป่า หรือประเพณีเขาวงกต เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนานในชุมชนไทใหญ่ โดยมีรากฐานจากเวสสันดรชาดก ชาวไทใหญ่เรียกว่า “ลิ่กเจ้าเหว่สั่นตะหร่า” และนำมาสร้างเป็นพิธีกรรมเขาวงกตด้วยการใช้ไม้ไผ่ทำทางเดินซับซ้อน สื่อถึงการเดินทางในสังสารวัฏ และการใช้สติและปัญญานำทางชีวิตด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การสักการะและเดินเขาวงกต นิทรรศการประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านผาบ่องและประเพณีปอยหมั่งกะป่า การอบรมเชิงปฏิบัติการด้านศิลปวัฒนธรรม การสาธิตอาหารและศิลปวัฒนธรรมไทใหญ่ การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของสถานศึกษาและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ชม-ชิม-ช็อป อาหารไทใหญ่จาก “กาดซอกจ่า: อาหารไตบ้านผาบ่อง” และการแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสร้างการรับรู้นำไปสู่การเสริมสร้างคุณค่า และมูลค่าศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น พัฒนารูปแบบการฟื้นฟูเทศกาลวัฒนธรรม “ปอยหมั่งกะป่า ประเพณีเขาวงกตแห่งบ้านผาบ่อง” ให้ยั่งยืนสืบไป










 

 

ภาพ – ข่าว : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่


ชมประมวลภาพเพิ่มเติม >> Click

เอกลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "สถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"

ค่านิยมหลัก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

        C Community  สถาบันอุดมปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวไกล

        M Moral   สร้างบัณฑิตดีสู่สังคมไทยด้วยอุดมการณ์แห่งศีลธรรม

        R Royal  น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาสังคม

        U Unity   ด้วยจิตอาสาพัฒนาสถาบันเป็นหนึ่งเดียว

อัตลักษณ์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  "บัณฑิตมีทักษะชีวิต จิตสาธารณะ และสู้งาน"

คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

คือ การมีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีความรู้ดี บุคลิกภาพดี สุขภาพดี และเป็นพลเมืองดี (5 ดี)

 

รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัย

Find CMRU APP at Play Store Find CMRU APP at Play Store
สงวนลิขสิทธิ์ 2558, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ดูแลระบบ; admin@cmru.ac.th

ติดต่อมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.ช้างเผือก ต.ช้างเผือก
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
โทรศัพท์: 053-412151-155
อีเมล์ : saraban@cmru.ac.th
 

ติดต่อเรา