สาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมฟ้อนเล็บพื้นเมือง รับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในพิธีบายศรีทูลพระขวัญ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมฟ้อนเล็บพื้นเมือง
รับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
ในพิธีบายศรีทูลพระขวัญ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
28 กรกฎาคม 2567
อาจารย์ว่าที่ร้อยตรีสรายุทธ อ่องแสงคุณ ประธานหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2568 หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจาก รศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ให้เข้าร่วมในการร่วมฟ้อนเล็บพื้นเมืองรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีบายศรีทูลพระขวัญ ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ สามกษัตริย์ ถนนพระปกเกล้า อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี องคมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนเจ้านายฝ่ายเหนือ 8 จังหวัด ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเข้าร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พิธีบายศรีทูลพระขวัญเป็นประเพณีและวัฒนธรรมพื้นเมืองที่เจ้านายฝ่ายเหนือปฏิบัติสืบทอดแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ในโอกาสสำคัญตามแบบแผนดั้งเดิม
ประเพณีการฟ้อนเล็บรับเสด็จฯ เป็นประเพณีอันงดงามที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานในวิถีของชาวล้านนา แสดงออกถึงความจงรักภักดี ชาวเชียงใหม่ที่น้อมนำการแสดงนี้ถวายแด่องค์พระมหากษัตริย์และพระราชินี ด้วยความจงรักภักดีและความสมพระเกียรติอย่างสูงสุด เป็นการแสดงมีลักษณะเด่นที่อ่อนช้อย งดงามและเปี่ยมด้วยความหมายเชิงสัญลักษณ์ ทั้งการแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองที่วิจิตรบรรจงและการเคลื่อนไหวที่แสดงถึงความเคารพนบนอบ การฟ้อนเล็บจึงเป็นมากกว่าการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม หากแต่เป็นเครื่องสะท้อนจิตวิญญาณแห่งความรัก ความศรัทธา และความสามัคคีของชาวล้านนาที่พร้อมใจกันถวายความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมั่นคงตลอดมา โดยการแสดงดังกล่าวมี อาจารย์ชัพวิชญ์ ใจหาญ,อาจารย์ ดร.สุนิษา สุกิน, อาจารย์อาทิตยา ผิวขำ, และ อาจารย์ชไมพร จันทรวิบูลย์ เป็นผู้ควบคุมการแสดงของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่มีบทบาทในการสนับสนุนพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ โดยเน้นการพัฒนาท้องถิ่น การศึกษา และชุมชนให้เจริญก้าวหน้า ตามพระบรมราโชบายในด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยการมีส่วนร่วมในงานครั้งนี้จึงสะท้อนถึงความตั้งใจของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในการสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นเมืองให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดไป แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งความสามัคคีของชาวล้านนาในการน้อมนำศิลปะและอัตลักษณ์ของถิ่นฐานบ้านเกิดไปเผยแพร่ในระดับชาติด้วยหัวใจเปี่ยมล้นไปด้วยความภักดี
ประมวลภาพถ่ายกิจกรรม >> Click
ขอขอบคุณข้อมูล : หน่วยราชการในพระองค์ https://www.royaloffice.th/ และ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
ภาพ - ข้อมูล : หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เรียบเรียงข่าว : พัชริดา ชื่นมาโนช นักประชาสัมพันธ์ งานประชาสัมพันธ์
กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ศูนย์สื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่